ชาวป้อมมหากาฬพอใจ กทม.ยันบ้านที่เหลือจาก12หลังแรกจะไม่รื้อจนกว่าจะยินยอม

03 กันยายน 2559, 11:59น.


หลังจากที่เจ้าหน้าที่ของกรุงเทพมหานคร(กทม.) เตรียมเจ้าหน้าที่เข้ารื้อถอนชุมชนภายในป้อมมหากาฬ 13 หลังแรก เพื่อนำพื้นที่ไปสร้างเป็นสวนสาธารณะ ตามแผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์ เบื้องต้นได้รื้อถอนไปบ้างแล้วบางส่วน เนื่องจากบ้านส่วนใหญ่เป็นบ้านไม้ หลังคาสังกะสี ล่าสุด จากการพูดคุยกับแกนนำชุมชน ยืนยันว่า บ้านโบราณที่อยู่ตรงกลาง จะไม่มีการรื้อถอน



สำหรับการรักษาความปลอดภัยได้มีเจ้าหน้าที่จากกองบังคับการปราบปราม จำนวน 15นาย นำกำลังตำรวจสน.สำราญราษฎร์ กว่า 10นาย และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องรวมกว่า 50 นาย คอยสังเกตการณ์และดูแลความปลอดภัยในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน





ส่วนลานกว้างหน้าบ้านโบราณก็มีชาวบ้านอีกกลุ่มที่ไม่เห็นด้วย ถือป้ายชุมนุมคัดค้านให้ทบทวนแผนการรื้อถอน ทั้ง เด็ก ผู้ใหญ่ นั่งอยู่บริเวณลานกว้าง  พล.ต.อ อัศวิน ขวัญเมือง รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร( กทม.) เดินทางมาติดตามการรื้อถอนและได้มีการพูดคุยกับกับเจ้าหน้าที่และกลุ่มชาวบ้าน



ตามแผนการพัฒนา กทม. รื้อถอนชุมชนภายในป้อมมหากาฬเพื่อนำพื้นที่ไปสร้างเป็นสวนสาธารณะ ตามแผนแม่บทเพื่อการอนุรักษ์และพัฒนากรุงรัตนโกสินทร์





ผลการหารือระหว่างพล.ต.อ อัศวิน และนายธวัชชัย วรมหาคุณ แกนชาวชุมชน ได้ข้อสรุปว่า จะมีการรื้อถอนบ้าน12หลังที่เป็นบ้านไม้ จากทั้งหมดที่จะมีการรื้อถอน13หลัง ซึ่ง1ในหลังที่ไม่รื้อถอนคือ บ้านหมายเลขที่99 ที่เป็นบ้านทรงไทย จะเก็บไว้เพื่ออนุรักษ์ จะไม่มีการรื้อถอน และเจ้าหน้าที่จะใช้เวลาภายใน2วันนี้ ในการรื้อถอน12หลังให้แล้วเสร็จ และหากชาวบ้านทั้ง12หลังต้องการวัสดุของบ้านตัวเอง เจ้าหน้าที่กทม.จะอำนวยความสะดวกในการขนย้ายใน ส่วนที่บ้านหลังที่เหลือยืนยันว่าจะไม่มีการรื้อถอนต่อ จนกว่าเจ้าของบ้านจะสมัครใจ โดยในวันที่6กันยายน จะมีตัวแทนชาวบ้านไปหารือกับพลตำรวจเอกอัศวินเพื่อหาแนวทางร่วมกันต่อไป หลังจากนายธวัชชัยได้ประกาศให้ชาวบ้านในชุมชนรับทราบถึงข้อสรุปดังกล่าว ชาวบ้านก็พึงพอใจพร้อมทั้งส่งเสียงดีใจ ขณะนี้การชุมชนกันที่ลานกลางก็ยุติลงแล้ว

เบื้องต้นได้สอบถามชาวบ้านที่ไม่ยินยอมให้มีการรื้อถอน ได้เปิดเผยว่าพอใจกับข้อสรุปและดีใจที่ได้อยู่ต่อ เพราะ สถานที่นี้พี่น้องอยู่กันมานานแล้ว  สำหรับการรื้อถอนบ้านจำนวน12หลังที่ยินยอม ขณะนี้เจ้าหน้าที่จากการไฟฟ้านครหลวงและเจ้าหน้าที่จากการประปานครหลวงได้ทำการตัดไฟฟ้าและน้ำทั้ง12หลังแล้ว และเจ้าหน้าที่จากการโยธาก็ได้ปฎิบัติการรื้อถอนต่อไป





ด้านผู้แทนสหพันธ์พัฒนาองค์กรชุมชน คนจนเมืองแห่งชาติ (สอช.) เปิดเผยว่า การมีส่วนร่วมในการเข้ารื้อถอน เนื่องจากเห็นว่าเป็นเรื่องของการอนุรักษ์วัฒธรรมโบราณ เพราะสถานที่ดังกล่าวเกิดก่อนที่จะมีกทม.และกฎหมายอีก จึงไม่เห็นด้วย บ้านเรือนแต่ละหลังภายในป้อมมหากาฬมีคุณค่า ดังนั้นควรหารือว่าบ้านหลังใดที่ควรรื้อถอน หลังใดควรอนุรักษ์ ไม่ใช่รื้อถอนทั้งหมด พร้อมยืนยันว่า การรวมตัวครั้งนี้มีพลังและหนักแน่นแน่นอน





ผู้สื่อข่าว:ธนดา เฉลิมวันเพ็ญ



 



 



 

ข่าวทั้งหมด

X