รมว.ยธ.เน้นนำแผนประชารัฐร่วมใจฯ ปลอดภัยยาเสพติด ไปสู่การปฏิบัติ

02 กันยายน 2559, 18:41น.


การติดตามการแก้ปัญหายาเสพติด พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ (ผอ.ศอ.ปส.) เป็นประธานการประชุมมอบนโยบายการนำแผนประชารัฐร่วมใจสร้างหมู่บ้านชุมชนมั่นคงปลอดภัยยาเสพติด พ.ศ.2559-2560 ไปสู่การปฏิบัติ  การประชุมในวันนี้ ร่วมกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย คณะกรรมการอำนวยการ ศอ.ปส. และผู้บริหารจากหน่วยงานต่างๆ กระทรวงกลาโหม กระทรวงยุติธรรม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงการต่างประเทศ กรุงเทพมหานคร สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เครือข่ายวิชาการ เครือข่ายเกษตรกร เครือข่ายภาคประชาชน เครือข่ายเยาวชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำนวน 500 คน สาระสำคัญหลักของการประชุมในครั้งนี้ คือ การมอบนโยบายการนำแผน ประชารัฐร่วมใจ สร้างหมู่บ้านชุมชนมั่นคง ปลอดภัยยาเสพติด พ.ศ. 2559 – 2560  ไปสู่การปฏิบัติ 



ทั้งนี้ การประชุมคณะกรรมการศูนย์อำนวยการป้องกันและปราบปรามยาเสพติดแห่งชาติ (ศอ.ปส.) ครั้งที่ 1/2559 เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2559 ที่ประชุมได้ให้ความเห็นชอบแผนประชารัฐร่วมใจ สร้างหมู่บ้านชุมชนมั่นคง ปลอดภัยยาเสพติด พ.ศ.2559-2560 โดยกำหนดเป้าหมายเข้าดำเนินการแก้ไขปัญหายาเสพติดในระดับหมู่บ้านชุมชนทั่วประเทศ จำนวน 81,905 แห่ง ภายในปี 2560 ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินงานตามแผนดังกล่าวมีความต่อเนื่อง และมุ่งสู่ผลสำเร็จ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม/ผอ.ศอ.ปส. จึงได้มอบหมายให้สำนักงาน ป.ป.ส. จัด การประชุมมอบนโยบายการนำแผนประชารัฐร่วมใจ สร้างหมู่บ้านชุมชนมั่นคง ปลอดภัยยาเสพติด พ.ศ.2559-2560 ไปสู่การปฏิบัติ  ครั้งนี้ขึ้น โดยมีผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย คณะกรรมการอำนวยการ ศอ.ปส. แม่ทัพภาค ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค ผู้ว่สราชการจังหวัด ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัด ผู้บัญชาการกองกำลังป้องกันชายแดน 





ที่ประชุมอภิปรายประเด็น ทิศทางการปรับนโยบายยาเสพติด และการนำแผนประชารัฐร่วมใจฯ ไปปฏิบัติ โดยผู้ร่วมอภิปราย ได้แก่ 1. นายชาญเชาวน์ ไชยานุกิจ ปลัดกระทรวงยุติธรรม อภิปรายในหัวข้อทิศทางการปรับนโยบายยาเสพติดของประเทศไทย การยกร่างประมวลกฎหมายยาเสพติด การปรับมาตรการทางกฎหมาย ในการควบคุมตัวยาเสพติด (กัญชง กัญชา กระท่อม เมทแอมเฟตามีน) และการบูรณาการงานยุติธรรมชุมชนกับการดำเนินงานสร้างหมู่บ้าน/ชุมชนมั่นคง ปลอดภัยยาเสพติด 2. นายศิรินทร์ยา สิทธิชัย เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด อภิปรายในหัวข้อ โครงสร้าง กลไก ระบบการอำนวยการตาม แผนประชารัฐฯ มาตรการด้านการป้องกันยาเสพติด มาตรการดำเนินการต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด และบทบาทภารกิจของสำนักงาน ป.ป.ส. ในการอำนวยการและสนับสนุน 3. นายประทีป กีรติเรขา รองปลัดกระทรวงมหาดไทย อภิปรายในหัวข้อการอำนวยการและบูรณาการระดับพื้นที่ตามแผนประชารัฐฯ บทบาทภารกิจของ ศอ.ปส.จ./กทม. ศป.ปส.อ./เขต และแนวทางการบูรณาการ 3 มาตรการในหมู่บ้าน/ชุมชน 4. พลตำรวจโท เรวัช กลิ่นเกษร ผู้บัญชาการตำรวจปราบปรามยาเสพติด อภิปรายในหัวข้อ ภารกิจการปราบปรามยาเสพติดตามแผนประชารัฐ และการสนับสนุนภารกิจด้านการป้องกันและบำบัดรักษาในระดับพื้นที่ และ5. นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข/ผู้อำนวยการ ศอ.ปส.สธ. อภิปรายในหัวข้อ ภารกิจ การบำบัดรักษาตามแผนประชารัฐฯ การปรับปรุงการดำเนินงานบำบัดรักษา ตามประกาศ คสช.ที่ 108/2557 และการถ่ายโอนภารกิจการบำบัดรักษา 





ที่ประชุมให้ความสำคัญกับการจัดทำแผนระดับพื้นที่ทั้งในระดับจังหวัด 77 จังหวัด และระดับอำเภอ 878 อำเภอ โดยในส่วนของแผนปฏิบัติการระดับจังหวัด จะเป็นแผนอำนวยการสนับสนุนการขับเคลื่อนระบบงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดของจังหวัดให้มีประสิทธิภาพ สนับสนุนข้อมูล ทรัพยากรสำหรับการจัดทำแผนให้แก่อำเภอ ซึ่งในปี 2560 ได้กำหนดให้อำเภอมีแผนปฏิบัติการป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติด ที่มุ่งไปสู่การแก้ไขปัญหาในหมู่บ้าน/ชุมชน 81,905 แห่ง โดยใช้ 3 มาตรการหลัก ได้แก่ มาตรการปราบปราม มาตรการบำบัดฟื้นฟูผู้เสพ และมาตรการป้องกันยาเสพติด ตามสภาพปัญหาของแต่ละพื้นที่ และยกระดับการจัดทำแผนปฏิบัติการระดับอำเภอ ให้มีแผนการควบคุมพื้นที่ โดยยึดหมู่บ้าน/ชุมชนและเป้าหมายเป็นตัวตั้ง และใช้หลักการจัดสรรงบประมาณลงสู่อำเภอ เพื่อแก้ไขปัญหาให้ถึงเป้าหมาย ได้แก่ หมู่บ้าน/ชุมชน สถานศึกษาทุกแห่ง สถานประกอบการ ศูนย์หรือกลไกของเยาวชนในพื้นที่ และเครือข่ายภาคประชาชนให้มีประสิทธิภาพส่งผลให้แก้ไขปัญหายาเสพติดได้อย่างยั่งยืน



 



CR:ฝ่ายประชาสัมพันธ์ ป.ป.ส.

ข่าวทั้งหมด

X