สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญ ได้เผยแพร่เอกสารข่าว ระบุกรณีที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ส่งร่างรัฐธรรมนูญซึ่งแก้ไขในส่วนที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับผลการออกเสียงประชามติประเด็นเพิ่มเติม เพื่อให้พิจารณาว่าเป็นการชอบด้วยกับผลการออกเสียงประชามติแล้วหรือไม่ตามรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 1) 2558 มาตรา 37/1 ประกอบรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว 2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) 2559 มาตรา 39/1 วรรคสิบสองนั้น
ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาแล้วเห็นว่า รัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 มาตรา 45 วรรคสองบัญญัติให้การพิจารณาและการทำคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นไปตามข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาและการทำคำวินิจฉัย พ.ศ.2550 และข้อกำหนดศาลรัฐธรรมนูญฯ ข้อ 17 กำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีอำนาจพิจาณณาคดี ดังนี้..(20) คดีที่ขอให้วินิจฉัยกรณีที่มีบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ..ให้เป็นอำนาจพิจารณาวินิจฉัยของศาล และข้อ 18 วรรคหนึ่ง กำหนดให้คำร้องตามข้อ 17 ต้องทำเป็นหนังสือ ใช้ถ้อยคำสุภาพ และอย่างน้อยต้องมีรายการดังต่อไปนี้...(5) ลงรายมือชื่อผู้ร้อง แต่ในกรณีที่ทำและยื่นหรือส่งคำร้องแทนผู้อื่นต้องแนบใบมอบฉันทะให้ทำการดังกล่าวมาด้วย ดังนั้น เมื่อคำร้องนี้ได้ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐสภามายื่นแทน โดยไม่มีใบมอบฉันทะของผู้ร้อง ศาลจึงให้ผู้ร้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามข้อกำหนดฯข้อ 18 วรรคหนึ่ง (5) และวรรคสอง โดยจัดทำใบมอบฉันทะ และส่งต่อศาลภายในวันจันทร์ที่ 5 ก.ย.นี้
นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเผยว่า ได้รับทราบเรื่องที่ศาลรัฐธรรมนูญ ตีกลับเอกสารร่างรัฐธรรมนูญที่ปรับแก้ไขบทเฉพาะกาลแล้ว ด้วยเหตุผลไม่เป็นไปตามระเบียบการยื่นคำร้องของศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ในวันพรุ่งนี้ (1 ก.ย.) จะหารือกันในที่ประชุม กรธ.แล้วทำใบมอบฉันทะ เพื่อให้เจ้าหน้าที่ยื่นคำร้องตามกระบวนการเพื่อส่งเรื่องกลับไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ภายในวันพรุ่งนี้ต่อไป