กรมชลประทาน ตั้งคณะทำงานศึกษาแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพอ่างเก็บน้ำพระปรง จ.สระแก้ว

31 สิงหาคม 2559, 16:06น.


แผนการเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำในอ่างเก็บน้ำพระปรง กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ลงพื้นที่บริเวณอ่างเก็บน้ำพระปรง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ตำบลช่องกุ่ม อำเภอวัฒนานคร จังหวัดสระแก้ว ปัจจุบันพื้นที่แห่งนี้สามารถกักเก็บน้ำได้ 97 ล้านลูกบาศก์เมตร และมีแผนในการเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำ ภายใต้ยุทธศาสตร์บริหารจัดการทรัพยากรน้ำของรัฐบาล  ดร. สมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า อ่างเก็บน้ำพระปรง เริ่มการก่อสร้างเมื่อปี 2532 และเสร็จสิ้นเมื่อปี 2545 รองรับความจุน้ำได้ 97,000,000 ลูกบาศก์เมตร ซึ่งมีความจำเป็นในการส่งน้ำไปยังท้ายอ่างเก็บน้ำพระปรง เพื่อสมทบกับคลองพระสะทึง เชื่อมต่อไปยังแควหนุมาน ที่อำเภอกบินทร์บุรี และส่งไปยังจังหวัดปราจีนบุรี ก่อนไหลลงสู่แม่น้ำบางปะกง โดยทุกปี อ่างเก็บน้ำพระปรง ต้องส่งน้ำ ไม่น้อยกว่า 40,000,000 ลูกบาศก์เมตร เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้น้ำทะเล เข้ามาสู่อำเภอเมืองปราจีนบุรี หลังมีการพัฒนาอ่างเก็บน้ำห้วยโสมง ก็มีความคาดหวังว่า ปริมาณน้ำที่จะส่งมายังอ่างเก็บน้ำพระปรง จะประหยัด ไม่น้อยกว่าปีละ 40,000,000 ลูกบาศก์เมตร โดยสามารถนำไปพัฒนา และส่งน้ำเพื่อเพิ่มศักยภาพทางการเกษตร อุปโภค บริโภค และในบางส่วนนำไปใช้เพื่อพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ บริเวณใกล้เคียงจังหวัดสระแก้ว 





ด้านแผนการเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำที่อ่างเก็บน้ำพระปรง เนื่องจากอ่างเก็บน้ำแห่งนี้ มีปริมาณน้ำที่ไหลเกือบ 100,000,000 ลูกบาศก์เมตรในทุกปี แต่ในปีนี้ มีน้ำไหลเข้ามาในปริมาณที่น้อย สาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ทำให้น้ำที่ไหลเข้ามา มีปริมาณไม่สม่ำเสมอ จึงใช้รูปแบบการบริหารฝนที่ตกลงมาคล้ายกับลุ่มแม่น้ำเจ้าพระยา ที่จะต้องบริหารจัดการน้ำที่หลังเขื่อนเป็นหลัก ดังนั้นแนวทางที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เร่งรัด ให้กรมชลประทาน พิจารณา คือการเพิ่มประสิทธิภาพอ่างเก็บน้ำ โดยการดูแลเขื่อนเดิมที่มีอยู่ที่มีศักยภาพในการเพิ่มความจุได้ ซึ่งอ่างเก็บน้ำพระปรง ก็เป็นหนึ่งในอ่างเก็บน้ำที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพได้ โดยจะเริ่มดำเนินการในปี 2560





รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า  กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้เพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำ ที่สำคัญแล้วหลายแห่ง ในอนาคตข้างหน้าก็จะมีการเพิ่มประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำอีก ไม่น้อยกว่า 25 แห่ง ซึ่งจะทำให้เพิ่มศักยภาพการกักเก็บน้ำได้อีก ไม่น้อยกว่า 300,000,000 ลูกบาศก์เมตร ส่วนอ่างเก็บน้ำพระปรง จะสามารถเพิ่มปริมาณกักเก็บน้ำ มากกว่า 100,000,000 ลูกบาศก์เมตร ขึ้นไป ซึ่งการเพิ่มประสิทธิภาพกักเก็บนี้จะช่วยส่งนำเพื่อไปยังพื้นที่การเกษตร การอุปโภค บริโภค และช่วยในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งมีความต้องการใช้น้ำมากกว่า วันละ 4,000 ลูกบาศก์เมตร โดยกรมชลประทาน จะพยายามเพิ่มพื้นที่อ่างเก็บน้ำทุุกอ่างที่มีอยู่ ตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการปรับแผนกักเก็บน้ำให้มากขึ้น ซึ่งกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ดำเนินการอยู่ อย่างไรก็ตาม การเพิ่มแหล่งกักเก็บน้ำนั้น จะต้องมีการศึกษาผลกระทบอย่างรอบคอบ ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม รวมทั้งความปลอดภัยของเขื่อน จึงได้มีการตั้งคณะทำงาน 4 ภาค ทำงานร่วมกัน โดยเริ่มวางโครงการและคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายใน 4 ปี 



ทั้งนี้ ระยะเวลาการดำเนินงาน เพื่อสร้างประสิทธิภาพการกักเก็บน้ำ อ่างเก็บน้ำพระปรง เนื่องจากจะมีการเพิ่มเป็นแบบฝายพับได้ ที่มีความกว้าง 100 เมตร จึงคาดว่าจะใช้ระยะเวลาภายใน 1 ปี และเก็บน้ำได้ มากกว่า 100,000,000 ลูกบาศก์เมตร อีกทั้งค่าใช้จ่ายในการเพิ่มประสิทธิภาพของอ่างเก็บน้ำพระปรงไม่มากนัก จึงถือเป็นการลงทุนที่คุ้มค่า และพื้นที่จากท้ายน้ำ ก็จะได้รับประโยชน์ น้ำที่ไหลล้นเข้ามา ก็จะน้อยตามไปด้วย





ปัจจุบันสถานการณ์ในอ่างเก็บน้ำพระปรง มีอยู่ 11,000,000 ลูกบาศก์เมตร ถือว่าอยู่ในระดับที่น้อย เนื่องจากฤดูฝนจะเข้ามาในเดือนกันยายน และตุลาคม โดยคาดว่าปริมาณน้ำจะเข้ามาอีกประมาณ 60,000,000 ลูกบาศก์เมตร รวมเป็น 70,000,000 ลูกบาศก์เมตร และในช่วงบ่าย กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะมีการลงพื้นที่เพื่อพบกับเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งล๊อบสเตอร์ ที่ได้รับน้ำจากอ่างเก็บน้ำพระปรง 



ผู้สื่อข่าว:เกตุกนก ครองคุ้ม



 

ข่าวทั้งหมด

X