ก่อนที่กรุงเทพมหานคร(กทม.) จะรื้อถอนบ้าน12 หลังแรกในชุมชนป้อมมหากาฬ ในวันเสาร์หน้า เพื่อปรับให้เป็นสวนสาธารณะ บรรยากาศชุมชนป้อมมหากาฬ เมื่อเดินเข้าไปภายในชุมชน ที่เป็นทางเดินแคบ ๆ ลัดเลาะภายในของชุมชนที่ประกอบด้วยบ้านไม้สองชั้น กว่า 56 หลังคาเรือน และมี 12 หลังที่จะต้องถูกรื้อถอน บรรยากาศช่วงบ่ายของวันนี้ อากาศร้อนมาก แต่ก็มีความคึกคัก เพราะมีประชาชนเข้าไปชมภายในชุมชน โดยมีเด็กๆในชุมชน มัคคุเทศก์น้อย เป็นตัวแทนพาเยี่ยมชมบ้านแต่ละหลัง และเล่ารายละเอียดที่มาของบ้านแต่ละหลัง
วันนี้รอบๆชุมชนมีร้านค้าขายของๆชาวบ้าน ขายของเล็กๆน้อย บางบ้านก็เปิดขายทุกวัน บางบ้านก็ขายเฉพาะเสาร์-อาทิตย์ เช่น ร้านขายผัดไทย น้ำแข็งไทย พิมเสน ยาดม ที่ปรุงยาเอง ลูกชิ้นปิ้ง ข้าวคลุกกะปิ ส่วนมากจะเป็นของรับประทาน และในช่วงเสาร์ –อาทิตย์ บรรยากาศคึกคัก เนื่องจาก มีการจัดกิจกรรม ที่ลานตรงกลางของชุมชน
จากการพูดคุยกับนายพรเทพ บูรณบุรีเดช รองประธานชุมชนป้อมมหากาฬ เล่าให้ฟังว่า กว่า 50 ปี ที่ได้อาศัยอยู่ในชุมชนแห่งนี้ วิถีชีวิตของชาวชุมชนป้อมมหากาฬไม่ต่างอะไรจากหมู่บ้านต่างจังหวัด ที่ชาวชุมชนอยู่ร่วมกันด้วยความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ประกอบอาชีพค้าขาย เลี้ยงนก มีประวัติศาสตร์ที่ยาวนาน ตั้งแต่ในอดีตถึงปัจจุบัน
ชุมชนป้อมมหากาฬ มีบ้านที่โดดเด่นอยู่ตรงกลางลานชุมชน คือ บ้านนวดแผนโบราณ ที่สมัยก่อนเคยเป็นสถานที่ฝึกสอน นวดกดจุดจับเส้นของปู่ ประพิณ ขจิตสุวรรณ เป็นบ้านไม้สองชั้น มีชานกว้าง มีไต้ถุนสูง นอกจากนี้ยังมีการเปิดห้องภายในบ้าน เพื่อรับรักษาอาการต่างๆ ทุกวันนี้บ้านหลังนี้ ยังใช้เป็นสถานพักอาศัยโดยลูกหลานของปู่ประพิณด้วย
บ้านกระเพาะปลา เป็นหนึ่งในอาหารที่ยังคงอยู่ตั้งแต่ในอดีตถึงปัจจุบัน โดยทุกวันเวลา02.00 - 03.00น.จะมีการเตรียมทำกระเพาะปลาไปขายตามตลาด ถือเป็นอาหารรสเด็ดของชาวป้อมมหากาฬ อีกอย่างหนึ่ง นอกจากนี้ยังมีต้นโพธิ์ ไทร ไกร กร่าง ต้นไม้ใหญ่ที่อยู่คู่กับคนในชุมชน โดยเชื่อว่ามีเทพารักษ์อาศัยอยู่ โดยมีพิธีไหว้สักการะต้นไม้สี่ต้นนี้ในช่วงสงกรานต์ ควบคู่กับพิธีขอสมาพ่อปู่ป้อมมหากาฬ ซึ่งชาวชุมชนเชื่อว่า เป็นสิ่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ด้วยความศรัทธา พื้นที่ในชุมชน ยังเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาชมทุกวัน
ผู้สื่อข่าว:เกตุกนก ครองคุ้ม