ในเวทีเสวนาแนวทางบริหารจัดการน้ำช่วงปลายปี 2559 เรื่อง รุก รับ รู้ อยู่กับน้ำ ที่การประปานครหลวงร่วมกับผู้แทนจากกรมอุตุนิยมวิทยา กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมฝนหลวงและการบินเกษตร นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า จากการประเมินสถานการณ์ฝนปีนี้ คาดว่าจะดีกว่าปีที่แล้ว กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ มีแนวทางบริหารจัดการน้ำ แบบกักเก็บน้ำให้ได้มากที่สุด พร้อมระบายออกตามความจำเป็นเพื่อให้ประชาชนใช้สอย และแนะนำให้เกษตรกรใช้น้ำฝนปลูกข้าวเป็นหลัก ส่วนน้ำจากกรมชลประทาน จะเข้ามาช่วยเสริม ประมาณร้อยละ 30 ด้านสถานการณ์น้ำในเขื่อนหลักขณะนี้มีมากกว่า 2,200 ลูกบาศก์เมตร เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว และประเมินว่าน้ำในเขื่อนปีนี้ทั่วประเทศจะมีมากกว่า 7,000,000,000 ลูกบาศก์เมตร
ด้านนายวันชัย ศักดิ์อุดม อธิบดีกรมอุตุนิยมวิทยา ได้พูดถึงปัญหาความแห้งแล้งในประเทศไทย ช่วงสองปีที่แล้วว่า เกิดมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่รุนแรง เนื่องจากการใช้ทรัพยากรเป็นจำนวนมาก ส่งผลให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้น เกิดฝนตกหนัก พายุรุนแรง รวมทั้งเกิดความแห้งแล้งในบางพื้นที่ แต่หลังจากนี้ประเทศไทยจะมีฝนตกมากขึ้น และคาดว่าจะหมดลงในช่วงกลางเดือนตุลาคม ทั้งนี้ ในประเทศไทยตอนบน ช่วงปลายปี จะมีปรากฏการณ์ลานินญา แต่ยืนยันว่าไม่รุนแรง เหมือนปี 2554 และไม่ส่งผลมากนัก ยกเว้นบริเวณภาคใต้ฝั่งตะวันออก ที่จะมีปริมาณฝนมาก อีกทั้งไม่ควรประมาทในที่ลุ่มของภาคกลาง ที่อาจเกิดน้ำท่วมขังไปบ้าง แต่ก็เป็นปกติเช่นทุกปี ส่วนสถานการณ์ความแห้งแล้งในปีหน้า อาจไม่แล้งชัดเจนเหมือนปีที่แล้ว
ขณะที่ นายปนิธิ เสมอวงศ์ ผู้อำนวยการกองปฏิบัติการฝนหลวง กล่าวว่า ในช่วงภัยแล้ง กรมฝนหลวงและการบินเกษตร มีความพยายามในการทำฝนหลวง แต่มีอุปสรรคที่ไม่สามารถทำได้ในบางพื้นที่ เนื่องจากต้องอาศัยองค์ประกอบ จากหลายด้าน ทั้งจากเมฆ ความชื้นสัมพัทธ์ กำลังลมชั้นบน รวมทั้งปัญหาภัยแล้งซ้ำซาก ในพื้นที่เดิมๆ ที่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ ส่วนในช่วงฤดูฝนปีนี้ ภาระกิจของกรมฝนหลวง คือ ช่วยเติมน้ำลงเขื่อน ให้ได้ร้อยละ 80 แต่ต้องขึ้นอยู่กับสภาพอากาศด้วย
จากสถานการณ์ภัยแล้งในสองปี นายณรงค์ฤทธิ์ ศรีสถิตย์นรากูร รองผู้ว่าการประปานครหลวง กล่าวว่า ไม่ได้เกิดจากสภาพอากาศที่แปรปรวนเท่านั้น แต่เกิดจากความต้องการในการใช้น้ำที่เพิ่มมากขึ้น โดยมีปัจจัยจากความเจริญทางเศรษฐกิจ การขยายตัวในชุมชน ส่งผลให้ปริมาณน้ำลดลง ขณะที่ความต้องการใช้น้ำกลับเพิ่มขึ้น การประปานครหลวง ได้ประสานงานกับกรมชลประทานอย่างใกล้ชิด เพื่อควบคุมและดูแล แต่ก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกคนที่ต้องใช้น้ำอย่างประหยัด และพอดี เพื่อจะได้มีน้ำใช้ในอนาคตข้างหน้า อย่างไม่ขาดแคลน
ผู้สื่อข่าว: เกตุกนก ครองคุ้ม