สำนักข่าวซินหัวของทางการจีนรายงานอ้างนายปีเตอร์ แวนเดน ฮูท หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของบริษัทไอเอ็นจี เบลเยียมว่า นับแต่เกิดวิกฤติการเงินทั่วโลกเมื่อปี 2551 คณะผู้กำหนดนโยบายในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วได้ใช้เครื่องมือต่างๆไปหลายมาตรการ ตั้งแต่มาตรการด้านการคลัง,การเงินไปจนถึงเรื่องปรับโครงสร้างเพื่อฟื้นเศรษฐกิจให้เติบโต แต่ไม่ได้ผลเท่าที่ควร โดยในช่วงแรกๆนั้นเครื่องมือที่ถูกใช้ในการแก้ไขวิกฤติการเงินทั่วโลกคือ การจัดทำขาดดุลงบประมาณและมาตรการผ่อนคลายเชิงคุณภาพ แต่ก็ไม่อาจจะแก้ปัญหาภาวะชะงักงันทางเศรษฐกิจทั่วโลก
หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของบริษัทไอเอ็นจี เบลเยียม กล่าวว่าแม้ว่ากลุ่มประเทศในยูโรโซนและญี่ปุ่นใช้วิธีการลดอัตราดอกเบี้ยลงไปอยู่ในแดนลบ พร้อมใช้มาตรการผ่อนคลายทางการเงินต่างๆและการอัดฉีดเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ แต่ไม่ช่วยให้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นระบุว่ากล่องเครื่องมือหรือนโยบายการเงินของธนาคารกลางแห่งยุโรปเริ่มหมดไปเรื่อยๆ ขณะเดียวกันปัญหาวิกฤติผู้อพยพเองยิ่งฉุดยุโรปให้แย่ลงอีก กลายเป็นปัญหาที่ส่งผลกระทบทั้งเศรษฐกิจและสังคมของยุโรป แต่ในแง่ของเศรษฐกิจ ผู้อพยพส่วนใหญ่เป็นคนรุ่นหนุ่มสาว ถูกมองว่าเป็นกำลังแรงงานสำคัญที่จะช่วยทดแทนแรงงานที่เริ่มสูงอายุของยุโรป แต่กลุ่มผู้อพยพก็ยังมีปัญหาเรื่องการปรับตัวให้กลมกลืนเข้ากับสังคมที่พวกเขาเข้าไปอาศัยอยู่ สังคมยุโรปในปัจจุบันนี้มีความแตกแยกเรื่องวิธีการแก้ปัญหาวิกฤติผู้อพยพ ทำให้มีพรรคการเมืองแนวขวาจัด กระแสชาตินิยมและประชานิยมเพิ่มขึ้นทั่วทั้งยุโรป ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อหลักการเปิดเสรีทางการค้าและเศรษฐกิจของสหภาพยุโรป
สำหรับกรณีของญี่ปุ่นนั้น หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของบริษัทไอเอ็นจี ตั้งข้อสังเกตุว่านายกรัฐมนตรีชินโซ อาเบะได้เสนอแผนกระตุ้นเศรษฐกิจและให้คำมั่นว่าจะใช้ 3 แนวทางร่วมกันคือนโยบายการเงิน การคลังและการปรับโครงสร้างเพื่อฟื้นเศรษฐกิจให้เติบโต แต่ผลลัพธ์ที่ออกมาบ่งชี้ว่าล้มเหลวหรือแก้ปัญหาได้ไม่ตรงจุด ที่สำคัญคือ กลุ่มประเทศเศรษฐกิจที่พัฒนาแล้วเริ่มประสบปัญหาอื่นๆคล้ายกันคือการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว อุปสงค์ของตลาดที่ชะงักงันและมีหนี้สาธารณะจำนวนมาก/15.38 น.