สกศ.แนะผู้ประกอบการปรับตัวรับศก.ดิจิตอล ต่อยอดนวัตกรรมใหม่

23 สิงหาคม 2559, 15:21น.


การแนะนำแนวทางธุรกิจสตาร์ทอัพ  สำนักเลขาธิการสภาการศึกษา(สกศ.)ได้จัดเสวนา"การศึกษาเพื่อสร้างผู้ประกอบการใหม่สำหรับธุรกิจสตาร์ทอัพ (Startup)"  ดร.วัฒนาพร ระงับทุกข์ รองเลขาธิการสภาการศึกษา กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ที่ต้องการนำประเทศเข้าสู่ยุคไทยแลนด์4.0 ซึ่งเป็นเศรษฐกิจดิจิตอลและสร้างโมเดลคนรุ่นใหม่ขึ้นมาคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆในการสร้างธุรกิจขนาดย่อม ดังนั้นต้องเร่งปรับระบบการศึกษา จึงเชื่อมั่นว่าการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในวันนี้จะนำไปสู่การต่อยอดนวัตกรรมธุรกิจใหม่ๆ เพื่อรองรับทิศทางการพัฒนาประเทศในอีก15-20ปีข้างหน้า



ด้านนายคำรณ พิทักษ์ ผู้อำนวยการศูนย์บ่มเพาะวิสาหกิจอุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ระบุว่า ทิศทางการศึกษาในอนาคตควรวางแนวทางและสร้างกลไกลการใช้งานวิจัย โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษาและอาชีวศึกษาควรตอบโจทย์การสร้างผู้ประกอบการ หรือเจ้าของธุรกิจรุ่นใหม่ที่ชัดเจน เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจ startup ให้ขยายตัวเพิ่มขึ้นโดยมองแนวทางได้ 3 ระบบคือ การสร้างนวัตกรรมใหม่ เข้าสู่เชิงธุรกิจ ,ภาคธุรกิจเลือกเข้ามาใช้งานวิจัยจากสถาบันการศึกษา นำไปผลิตต่อในเชิงพาณิชย์ และสุดท้ายมหาวิทยาลัยสร้างหลักสูตรบ่มเพาะการเป็นนักศึกษา ผู้ประกอบการ เพื่อให้ผู้จบการศึกษาออกไป มีความพร้อมเข้าสู่ธุรกิจ startup ได้ จึงขอเสนอกระทรวงศึกษาธิการควรเร่งสร้างหลักสูตร และบทบาทการสร้างและการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรมใหม่ รวมทั้ง ควรมีการจัดตั้งศูนย์บ่มเพาะดังกล่าว ในสถาบันการศึกษา เพื่อเป็นกลไกล หรือโครงสร้างให้นักศึกษา ในยุคไทยแลนด์4.0 มีวิสัยทัศน์ ด้านการทำธุรกิจ startupมากขึ้น



ด้านดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร นายกสภาบันวิทยสิริเมธี กล่าวว่า ในมุมมองของวิศวกรเห็นว่าการตอบโจทย์ของการค้นพบนวัตกรรมใหม่ไม่ใช่แค่มีการศึกษาดีเท่านั้นแต่เกิดจากการมีความคิดสร้างสรรค์และสามารถมองไกลเห็นถึงผลผลิตของงานออกมาเป็นรูปธรรมที่มีตลาดรองรับสินค้า ส่วนการเริ่มต้นประกอบธุรกิจสำหรับคนรุ่นใหม่สิ่งแรกที่ต้องทำคือรู้จักบูรณาการ ศาสตร์ต่างๆเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างธุรกิจใหม่ขึ้นมา แต่สิ่งที่น่ากลัวคือ การทุ่มเงินทุนลงไป ที่มีโอกาสประสบความสำเร็จร้อยละ 20 เท่านั้น ดังนั้นต้องรู้จักวางแผนที่ดีรอบคอบและมีความคิดสร้างสรรค์ และวางรูปแบบธุรกิจที่ชัดเจน ซึ่งจุดเปลี่ยนการทำธุรกิจ startup ไม่ใช่เงินลงทุนเพียงอย่างเดียวแต่ต้องรู้จักใช้เทคโนโลยีเพื่อตอบสนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วย โดยขณะนี้เข้าสู่ยุคGenY  ที่กำลังเข้าสู่ตลาดแรงงานในอนาคต และมาพร้อมกับstart up  ดังนั้นธุรกิจต่างๆต้องมีการพัฒนา จากการเน้นขายของกลายเป็นเน้นขายความพึงพอใจที่สามารถอำนวยความสะดวกให้พวกGenY



ส่วนดร.จีรเดช อู่สวัสดิ์ ประธานคณะกรรมการการศึกษา สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย อภิปรายว่า  คนรุ่นใหม่ที่อยากมีธุรกิจขนาดย่อม หรือ Smes ต้องมีความทะเยอทะยานในการพัฒนาความคิดโดยเริ่มจาก 3 แรงบันดาลใจ คือ มีนวัตกรรมใหม่,มีความคิดสร้างสรรค์ที่จะนำผลิตภัณฑ์ส่งออกตลาดผู้บริโภค และต้องมีความมุ่งมั่นและตั้งใจระดับสูง ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะกว่าธุรกิจ startup จะประสบความสำเร็จต้องใช้เวลานาน ทั้งนี้ก็ต้องตอบโจทย์ให้ได้ว่ากลุ่มลูกค้าคือใคร, สามารถตอบสนองอะไรให้ลูกค้า, ผลิตภัณฑ์ที่ตลาดต้องการคืออะไร, สินค้าสร้างยอดขายได้มากแค่ไหน, และจะวางแผนเพื่อพัฒนาสินค้า และหาช่องทางสู่ตลาดทำอย่างไร อย่างไรก็ตามภาครัฐมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการขับเคลื่อนธุรกิจของนักธุรกิจ startup รุ่นใหม่ๆโดยจัดตั้งกองทุนรองรับระบบธุรกิจนวัตกรรมใหม่เพื่อส่งเสริมการทำธุรกิจด้านนี้อย่างจริงจังในอนาคต

ข่าวทั้งหมด

X