ปัจจุบันมีการใช้รถยนต์ในเขตกรุงเทพมหานครจำนวนหลายล้านคัน โดยผู้ที่จะสามารถขับรถในเส้นทางต่างๆ ได้ จะต้องผ่านการอบรมความรู้ ความสามารถในการขับขี่อย่างปลอดภัยและถูกกฎจราจร รวมทั้งจะต้องสอบใบขับขี่ก่อน แต่ที่ผ่านมากลับพบว่ามีผู้ที่มีใบขับขี่ ทำผิดกฎจราจรเป็นจำนวนมาก ตามสถิติของการออกใบสั่งของตำรวจจราจร ในเขตกองบัญชาการตำรวจนครบาล พบว่า ในเดือนมกราคมปี 2556 – เดือนมิถุนายน 2559 มีจำนวนทั้งสิ้นกว่า 2,500,000 รายแบ่งเป็น ปี 2556 จำนวน กว่า 650,000 ราย ปี 2557 มีจำนวนกว่า 770,000 ราย ปี 2558 มีจำนวนกว่า 790,000 ราย และในปี 2559 ตั้งแต่เดือน มกราคม-มิถุนายน พบว่ามีจำนวนผู้ที่ทำผิดกฎจราจรกว่า 280,000 ราย สำหรับความผิดที่ตำรวจจับสั่งปรับมากที่สุด ยังไม่มีหน่วยงานใดเป็นผู้ที่รวบรวมข้อมูลในเรื่องนี้ โดยส่วนใหญ่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมักจะมองว่าสาเหตุที่ทำผิดกฎจราจร เกิดมาจากผู้ขับขี่ไม่มีวินัย ไม่มีจิตสำนึก
นายอภิพล ทองคันยัง ผู้ที่มาสอบใบขับขี่มองว่าการทำผิดกฎจราจรเป็นเรื่องของจิตสำนึก บางทีอยู่บนถนนก็เผลอไม่มีน้ำใจ ก็เลยเป็นเหตุของการทำผิดกฎจราจร หลายฝ่ายได้ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า การที่ผู้ขับขี่ทำผิดกฎจราจรเป็นจำนวนมาก เกิดจากผลที่กรมการขนส่งทางบก ออกใบขับขี่ให้ง่ายเกินไป ส่งผลให้ผู้ขับขี่ขับรถไม่คำนึงถึงกฎจราจรและความปลอดภัยบนท้องถนน
นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า เรื่องดังกล่าวเป็นเรื่องของจิตสำนึก โดยสถิติของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ระบุว่ามีจำนวนผู้ที่ทำผิดกฎจราจรมากขึ้นทุกปีนั้น เนื่องจากขณะนี้มีรถที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมายในระบบทั่วประเทศมีเกือบ 37 ล้านคัน มีใบอนุญาตขับขี่รถยนต์กว่า 30 ล้านใบอนุญาต โดยขั้นตอนการออกใบอนุญาตขับขี่รถยนต์เป็นไปตามกระบวนการ และกรมการขนส่งทางบกได้ดำเนินการออกใบอนุญาตอย่างเข้มข้นจริงจัง และมีการพัฒนาเครื่องมือ เทคโนโลยีให้ทันสมัยเพื่อเป็นการประกันคุณภาพของผู้ขับรถ
สำหรับการแก้ไขปัญหาจราจร ต้องเริ่มที่การมีจิตสำนึกวินัยจราจร ที่เริ่มจากต้นทาง คือ กรมการขนส่งทางบก ต้องฝึก อบรม ให้ผู้ขับขี่ตระหนักถึงวินัยในการขับขี่ให้มากที่สุด เพราะการทำผิดกฎจราจร เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนตามมา
ผู้สื่อข่าว:สมจิตร์ พูลสุข