การเพิ่มศักยภาพแก่ผู้ประกอบการขนส่งไม่ประจำทางด้วยรถโดยสาร นายธีรพงษ์ รอดประเสริฐ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคม เป็นประธานเปิดการสัมนาเพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการขนส่งด้วยรถโดยสาร โดยเน้นความปลอดภัยในการเดินรถ และการให้บริการประชาชน เนื่องจากทั้งผู้ประกอบการและผู้ขับขี่ล้วนมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบชีวิตของผู้โดยสารทุกคน อีกทั้งการจัดสัมนาในลักษณะนี้ถือเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างผู้ประกอบการและเจ้าหน้าที่ ให้สามารถดำเนินการไปในทิศทางเดียวกันได้ รวมถึงที่ผ่านมายังมีผู้ประกอบการบางรายที่ให้บริการโดยไม่มีการเตรียมความพร้อมต่อปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นระหว่างการให้บริการ ทั้งนี้จากสถิติการเกิดอุบัติเหตุระหว่างการเดินทางพบว่า รถตู้โดยสาร หรือ รถบัสโดยสาร นับเป็นประเภทรถที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยที่สุด ซึ่งมีสาเหตุมาจากการไม่ชำนาญเส้นทาง การขับรถเร็วเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด และการขับรถโดยประมาท โดยหลังจากนี้หวังว่า จำนวนอุบัติเหตุที่เกิดจากการรถโดยสารจะต้องลงลง และเหลือน้อยที่สุด
ด้านนายจิรุตม์ วิศาลจิตร รองอธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า นอกจากการใช้รถโดยสารประจำทางแล้ว ปัจจุบันมีผู้นิยมใช้บริการรถโดยสารไม่ประจำทางเพิ่มมากขึ้น เช่นการเช่าเหมารถโดยสารไม่ประจำทาง เพื่อที่จะสามารถเดินทางเป็นกลุ่มหรือหมู่คณะได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ในช่วงเทศกาลหรือวันหยุดยาวต่างๆ ซึ่งเป็นโอกาสทางธุรกิจ ทำให้มีผู้ประกอบการขนส่งโดยสารไม่ประจำทางเพิ่มมากขึ้นทุกปี เพื่อเป็นการสร้างมาตรฐานบริการรถโดยสารประจำทางและไม่ประจำทางให้มีความปลอดภัย รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้ใช้บริการ จึงจัดการสัมนาเพื่อถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้ประกอบการขนส่งต้องปฏิบัติตาม
สำหรับการอบรมวันนี้จะแบ่งผู้ประกอบการออกเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มผู้ประกอบการรถทัวร์ รถตู้ท่องเที่ยว รถรับส่งพนักงาน และผู้ประกอบการรถประจำทาง โดยเฉพาะกฎ ระเบียบ และข้อกำหนดด้านความปลอดภัยต่างๆ เช่นอุปกรณ์ส่วนควบ หรืออุปกรณ์ให้ความช่วยเหลือต่างๆเมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อนำมาใช้ในการควบคุม ดูแลความปลอดภัยของประชาชนที่ใช้บริการ อีกทั้ง ผู้ประกอบการจะต้องดูแลผู้ขับขี่อย่างใกล้ชิด หากปล่อยปะละเลย ผู้ประกอบการจะต้องแชร์ความรับผิดชอบหากเกิดอุบัติเหตุ หรือมีเหตุการณ์ที่ทำให้เกิดความสูญเสีย ซึ่งกรมการขนส่งทางบกจะมีการติดตามแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนมาตรการยกระดับรักษาความปลอดภัย ในการป้องกันและลดสาเหตุการเกิดอุบัติเหตุของรถโดยสารไม่ประจำทางในระยะยาว
นอกจากนี้ กรมการขนส่งทางบก ได้เริ่มนำระบบเทคโนโลยี GPS เพื่อควบคุมพฤติกรรมการขับขี่ของพนักงานขับรถ และติดตามข้อมูลเดินรถ โดยกำหนดให้รถโดยสารสาธารณะและรถบรรทุกตั้งแต่สิบล้อขึ้นไปที่จดทะเบียนใหม่ต้องติดตั้ง GPS ทุกคัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 25 มกราคม 2559 สำหรับรถโดยสารที่ติดตั้ง GPS แล้วต้องเชื่อมโยงข้อมูลกับศูนย์บริหารจัดการเดินรถภายในระยะเวลาที่กำหนด ที่สำคัญรถโดยสารไม่ประจำทางจะต้องเชื่อมโยงข้อมูลเข้าสู่ระบบของกรมการขนส่งฯภายในรอบปี 2560 ปัจจุบันมีผู้ดำเนินการแล้วจำนวน 7,831 คัน จากทั้งหมด 57,942 คัน