นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ชี้แจงขั้นตอนหลังจากผ่านการออกเสียงประชามติว่า ขั้นตอนการออกเสียงเรียบร้อยแล้ว ประชาชนออกมาใช้สิทธิเกือบร้อยละ 60 และให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ และ คำถามพ่วง แสดงพลังมติประชาชนเสียงส่วนใหญ่ ยืนยันว่า การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญไม่มีใบสั่งจากใคร เชื่อมั่นคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) ก่อนที่จะออกเสียง กรธ.ได้ขอความเห็น จึงได้เสนอขอแก้ไขประมาณ 10 ประเด็น แต่กรธ.แก้ให้เพียงประเด็นเดียวแสดงให้เห็นไม่มีใบสั่ง
ทั้งนี้ กรธ.มีเวลา 30 วัน แก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตราให้เข้ากับคำถามพ่วง ตรงกับระหว่างวันที่ 10-11 กย. จากนั้นจะมีมาตรการตรวจสอบว่าแก้ไขตรงหรือไม่ จึงมีการส่งให้ไปยังศาลรัฐธรรมนูญตรวจสอบภายใน 30 วัน หากต้องแก้ไข ต้องส่งกลับไปแก้ กระบวนการนี้ใช้เวลาประมาณ 30 วัน คาดว่าประมาณวันที่ 10 ต.ค. เพื่อส่งให้นายกฯ นำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงลงพระปรมาภิไธย และพระราชทานกลับคืนมา ประมาณเดือน พ.ย.2559 จึงจะมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญหลังประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ทำให้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวจะสิ้นสุดลง ทำให้เกิดรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ฉบับที่ 20 ในส่วนคณะรัฐมนตรี(ครม.) สามารถปฎิบัติหน้าที่มีอำนาจเต็มหน้าที่จนกว่าจะมีการเลือกตั้งจนมีนายกฯและรัฐบาลชุดใหม่ ซึ่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.)ก็จะสิ้นสุดลงไปด้วยในเวลานั้น สภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ทำหน้าที่ต่อเพื่อออกกฎหมาย อยู่ต่อจนกว่าใกล้จะเลือกตั้ง ส่วนกรธ. ทำหน้าที่ออกกฎหมายลูกและเมื่อฉบับสุดท้ายใน 4ฉบับแรก ประกาศใช้ จะต้องจัดการเลือกตั้งภายในเวลา 150 วัน ก่อนที่จะถึงวันเลือกตั้ง คสช. จะมีหน้าที่ในการเลือกส.ว.ย้ำว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นในปี 2560 อาจจะล้ำในปี 2561 เพราะกว่าจะมีการจัดตั้งรัฐบาลชุดใหม่ รองนายกฯ ชี้แจงว่า มีสามปัจจัยที่จะทำให้การเลือกตั้งเร็ว ประกอบด้วย กระบวนการในการจัดทำกฎหมายลูกมีหลายฝ่ายดูแล รัฐบาลไม่สามารถเข้าไปก้าวก่ายแต่จะพยายามประสานให้ดีที่สุด ขณะที่ พรรคการเมืองต้องพร้อมด้วย และที่สำคัญคือ ความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง แต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบ 150 วัน
แฟ้มภาพ