หลังชุมชนป้อมมหากาฬขอความเป็นธรรมจากการถูกกรุงเทพมหานครให้ออกจากพื้นที่ นางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เปิดเผยหลังการประชุมว่า กรุงเทพมหานคร แสดงความกังวลข้อกฎหมาย ที่มีพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินไปแล้ว และมีการเยียวยาไปแล้วบางส่วน ดังนั้นที่ประชุมวันนี้ จึงเสนอให้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) เป็นหน่วยงานกลางที่จะจัดเวทีเพื่อหาทางออกในข้อกฎหมายดังกล่าว ส่วนข้อจำกัดของชุมชน เช่น การสืบทอดผู้ครอบครองกรรมสิทธิ์ที่ดินที่ยังมีข้อโต้แย้งอยู่ว่า ไม่สามารถเปลี่ยนชื่อผู้ถือครองได้ จะมีคณะทำงานกลุ่มย่อย เข้ามาพิจารณาในเรื่องนี้ รวมถึงเรื่องอื่นๆที่เกี่ยวข้องกับชุมชน
หลังจากนี้ กสม.จะหารือร่วมกับนักวิชาการเพื่อเสนอให้มีคณะอนุกรรมการชุดเฉพาะกิจขึ้นมาเพื่อมองทิศทางการอนุรักษ์และพัฒนาเกาะรัตนโกสินทร์อย่างมีส่วนร่วมและมีชีวิตชีวา ไม่ใช่มีแค่โบราณสถานหรือโบราณวัตถุแต่ไม่มีคนกลายเป็นเมืองร้าง ซึ่งผลที่ตามมาอาจก่อให้เกิดปัญหาอาชญากรรม คาดว่าต้องใช้เวลาภายใน3เดือนเพื่อพิจารณาเรื่องเร่งด่วน ส่วนเรื่องทิศทางการอนุรักษ์และพัฒนาเกาะรัตนโกสินทร์คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 1 ปี
นอกจากนี้ กสม.จะทำหนังสือด่วนที่สุดถึงผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ให้หยุดการไล่รื้อและให้ข่าวรายวันเกี่ยวกับชุมชนป้อมมหากาฬ จนกว่าจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจน โดยขณะนี้ ยังมีจำนวนผู้อยู่อาศัยบริเวณชุมชนป้อมมหากาฬ ที่เหลืออยู่ขณะนี้มีทั้งสิ้น 56 หลังคาเรือน ทำการย้ายออกไปแล้ว และได้รับเงินชดเชยจาก กทม. 42 หลังคาเรือน แต่ยังมีชาวบ้านจำนวน 14 หลังคาเรือน ที่ไม่ยอมย้ายออกและรับเงินค่าทดแทนที่ กทม. ชดเชยให้ โดยผู้แทนกทม.ที่เข้าร่วมประชุมในวันนี้ จะเป็นตัวแทนนำข้อสรุปในที่ประชุมทั้งหมดส่งให้กับผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเพื่อพิจารณาหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่อไป