ภาพรวมการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เปิดเผยว่า การฉีกทำลายบัตรออกเสียงประชามติ แบ่งเป็น กระทำโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ ไม่เจตนา คือผู้สูงอายุที่คิดว่าบัตรจะต้องแยกออกเป็น 2 ส่วน แม้ว่าตำรวจจะต้องดำเนินคดีในฐานกระทำผิดกฎหมายประชามติ แต่กกต.ไม่ประสงค์ที่จะให้เป็นคดีความ อยู่ที่ดุลยพินิจของพนักงานสอบสวน กกต.ไม่สามารถเข้าไปก้าวก่ายการทำงานได้ ส่วนผู้ที่เจตนาฉีกบัตร จะต้องถูกดำเนินคดีทางกฎหมายต่อไป กกต.จะไม่เข้าไปก้าวก่ายเช่นกัน ขณะเดียวกัน ได้รับรายงานการทำลายบัตรใน 34 จังหวัด รวม 59 เหตุการณ์ มีเจตนาฉีกทำลายบัตร 1 ราย ที่เหลือเป็นผู้สูงอายุที่กระทำโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ เพราะคิดว่าต้องแยกบัตรออกจากกัน 58 ราย
ส่วนการรายงานผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการที่หยุดอยู่ที่ ร้อยละ 94 ได้นำเสนอให้ ครม.รับทราบแล้ว ส่วนผลอย่างเป็นทางการ กกต.จะประชุมเพื่อรับรองในวันพุธที่ 10 ส.ค. เวลา 14.00 น. เบื้องต้นมีการส่งคะแนนอย่างเป็นทางการเข้ามาแล้ว 50 จังหวัดจาก 77 จังหวัด มีจำนวนบัตรเสีย ร้อยละ 3 ต่ำกว่าที่กกต.คาดการณ์ไว้ ซึ่งกกต.จะตรวจสอบเอกสารเพื่อยืนยันความถูกต้องอีกครั้ง และหากสามารถสรุปผลได้ทัน ก็จะนำส่งให้นายกรัฐมนตรีได้ในวันดังกล่าว โดยผลอย่างเป็นทางการจะมีทั้งจำนวนผู้มาใช้สิทธิ จำนวนผู้ลงคะแนนเห็นชอบและไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง
ส่วนจำนวนผู้มาใช้สิทธิขณะนี้มีประมาณ ร้อยละ 58-60 ซึ่งมากกว่าการลงประชามติในปี 2550 ที่มีร้อยละ 57 ส่วนการที่จำนวนผู้มาใช้สิทธิไม่ถึงเป้าที่ กกต.ตั้งไว้ที่ ร้อยละ 80 นั้น ตัวเลขดังกล่าวเป็นเป้าหมายในการทำงานของ กกต.แต่ยอมรับว่าเกิดขึ้นได้ยากในทางปฏิบัติ เพราะการลงประชามติไม่เหมือนการเลือกตั้ง ที่มีพรรคการเมือง นักการเมืองเข้าหาประชาชน และมีผลประโยชน์ต่อประชาชนอย่างเป็นรูปธรรมมากว่า โดยจะถึงขณะนี้ยังไม่มีการคัดค้าน ผลการออกเสียงประชามติอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งตามกฎหมายสามารถคัดค้านได้ภายใน 24 ชั่วโมง หรือ ภายใน 16.00 น. ของวันนี้ ซึ่งการคัดค้านจะทำได้เป็นรายหน่วย หากผู้มีสิทธิเห็นว่าการจัดออกเสียงประชามติภายในหน่วยมีปัญหา แต่หากมีการคัดค้าน กกต.อาจพิจารณาให้มีการออกเสียงประชามติในหน่วยนั้นๆใหม่ หรือ หากเห็นว่าการคัดค้านไม่มีผลต่อคะแนน เพราะขณะนี้มีส่วนต่างของคะแนนเป็นจำนวนหลักล้าน อาจไม่ต้องจัดการลงคะแนนใหม่ก็ได้
กกต.ยอมรับว่า จะนำบทเรียนที่ได้จากการลงประชามติไปปรับปรุงการจัดการเลือกตั้งในปี 2560 เช่น ความล่าช้าในการจดทะเบียนนอกเขตจังหวัด อบรมทำความเข้าใจกับกรรมการประจำหน่วยที่ปฏิบัติไม่เหมือนกัน เช่น ไม่ปั๊มลายนิ้มมือในบางหน่วย ซึ่งจะมีการประชุมสรุปงานเพื่อวางแนวทางปรับปรุงแก้ไขปัญหาการทำงานในช่วงปลายเดือนสิงหาคมนี้
ด้านนายธนิศร์ ศรีประเทศ รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง ด้านกิจการบริหารกลาง กล่าวว่า ขั้นตอนหลังจากนี้ กกต.จะพิจารณาร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องกับการเลือกตั้ง ได้แก่ พรบ.กรรมการการเลือกตั้ง พรบ.การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรบ.การสรรหาสมาชิกวุฒิสภา พรบ.ว่าด้วยพรรคการเมือง ซึ่งขณะนี้คณะทำงานได้ร่างเนื้อหาไว้แล้ว โดยจะนำเสนอเข้าสู่ที่ประชุม กกต.ได้ประมาณปลายเดือนสิงหาคม ก่อนนำส่งให้คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ.เพื่อพิจารณาต่อไป