ข่าวเศรษฐกิจวันนี้ นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี หารือกับหน่วยงานทางด้านเศรษฐกิจที่เกี่ยวข้องกับการขับเคลื่อนโครงการ พัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรืออีอีซี ซึ่งพบว่าภาพรวมของการจัดทำรายละเอียดโครงการมีความคืบหน้าไปมากแล้ว โดยเฉพาะในด้านโครงสร้างพื้นฐานสนับสนุนโครงการ ทั้งระบบขนส่งทางราง ท่าเรือ และสนามบิน คาดว่า ภายในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนสิงหาคมนี้ จะเสนอให้กับที่ประชุมครม.พิจารณาเห็นชอบ เพื่อเดินหน้าโครงการต่อไป สำหรับโครงการที่มีความพร้อมมากที่สุดมี 3 โครงการ เริ่มจากระบบราง คือโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-ระยอง ระยะทางประมาณ 190 กม., การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาของกองทัพเรือ ให้เป็นสนามบินเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบแห่งที่ 3 และโครงการที่ 3 คือการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกจุกเสม็ด ให้เป็นจุดจอดเรือยอชต์ เรือสำราญ และเรือข้ามฟาก (เฟอร์รี่) เพื่อเชื่อมต่อการเดินทางระหว่าง 2 ฝั่งทะเลอ่าวไทย
นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการประทรวงพาณิชย์ เปิดเผยแผนการดำเนินโครงการพัฒนาเศรษฐกิจการค้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปี 2560 เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในเขตเมืองสำคัญของจังหวัดชายแดนภาคใต้ 7 เมืองหลัก ประกอบด้วย อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา อ.เมือง จ.ปัตตานี อ.เมือง อ.ตากใบ อ.สุไหงโกลก จ.นราธิวาส และ อ.เมือง อ.เบตง จ.ยะลา เพื่อช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ และสร้างความเข้มแข็งให้แก่ประชาชนในพื้นที่ รองรับนโยบายเมืองต้นแบบ "สามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน" ของรัฐบาล โดยจะผลักดันให้จังหวัดชายแดนใต้ เป็นศูนย์กลางด้านอุตสาหกรรม ให้ความสำคัญกับการผลิตการเกษตรทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ ผลิตอาหารเพื่อสุขภาพ และอาหารฮาลาล โดยดำเนินการอย่างครบวงจร มีระบบขนส่งที่เชื่อมโยง รวมถึงการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เพื่อรองรับการเจริญเติบโตเน้นการลงทุนในอุตสาหกรรมหลักที่ก่อให้เกิดผลเชื่อมโยงมากที่สุด นอกจากนี้ ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของกระทรวงพาณิชย์ ไปหารือและดำเนินการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนในพื้นที่ในนามประชารัฐเพื่อดำเนินกิจกรรมต่างๆ เช่น การจัดเทศกาลอาหาร การจัดงานถนนคนเดิน การเปิดร้านค้าขายสินค้าราคาประหยัดในเขตเมืองหลักใน จ.สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส และจัดงานแสดงสินค้านอกพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นต้น
ผลการดำเนินกิจกรรมของ ปี 2559 ในเมืองต้นแบบนำร่อง 3 เมือง คือ เมืองสุไหงโก-ลก จ.นราธิวาส เมืองเบตง จ.ยะลา และเมืองหนองจิก จ.ปัตตานี สร้างรายได้ให้แก่ผู้ประกอบการ ในพื้นที่กว่า 30 ล้านบาท ช่วยเหลือ ผู้ประกอบการและเครือข่ายได้กว่า 1,000 ราย
นายจักรกฤศฏิ์ พาราพันธกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ตามที่มีการเปิดให้เอกชนประมูลเพื่อบริหารพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษตามนโยบายรัฐบาล ทั้งหมด 3 พื้นที่ ได้แก่ จ.ตราด จ.มุกดาหาร และจ.หนองคาย นั้น มีนักลงทุนยื่นซองประมูลเพื่อบริหารพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษเพียงรายเดียว และเพียงพื้นที่เดียวที่จ.ตราด ซึ่งกรมธนารักษ์จะพิจารณาข้อเสนอในการยื่นพัฒนาของเอกชนภายใน 30 วันและจะส่งต่อให้คณะกรรมการจัดหาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ที่มี พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย พิจารณาเห็นชอบต่อไป
น.ส.รื่นวดี สุวรรณมงคล อธิบดีกรมบังคับคดี เปิดเผยว่า สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) หารือกับสมาคมธนาคารไทย และบริษัทบริหารสินทรัพย์ (เอเอ็มซี) เกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่จะมีผลบังคับใช้ปี 2560 ซึ่งมีการตีความเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ในการจัดเก็บภาษี ที่ดินที่เป็นสินทรัพย์รอการขาย (เอ็นพีเอ) และเบื้องต้นที่ประชุมเห็นตรงกันว่า แม้จะไม่มีผู้เข้าไปใช้ประโยชน์ที่ดินแต่ก็ยังไม่ควรตีความว่าเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่า ซึ่งมีเพดานอัตราภาษีสูงถึงร้อยละ 5 โดย สศค.รับไปพิจารณาปรับปรุงแก้ไขร่างกฎหมายให้มีความชัดเจนมากขึ้น ส่วนทรัพย์สินรอการขายที่กรมบังคับคดี หลังจากมีการประมูลขายทอดตลาดแล้ว กรมบังคับคดีมีแนวคิดที่จะส่งหนังสือแจ้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อให้ขอใช้สิทธิเรียกเก็บภาษีค้างชำระมายังกรมบังคับคดี เพื่อให้กรมหักภาษีค้างจ่ายก่อนที่จะเอาเงินที่เหลือชำระหนี้คืนเจ้าหนี้ เพื่อไม่ให้เป็นภาระของผู้ซื้อทรัพย์จากการประมูลขายทอดตลาด
ส่วนนายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วยนายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบกลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ การบริหารจัดการพฤติกรรมการขับขี่ และยกระดับ มาตรฐานการขับรถให้ปลอดภัย ตามที่รัฐบาลได้ กำหนดให้มีการแก้ไขปัญหา การบาดเจ็บจากการจราจร ทางถนน ทำให้เกิดการสูญเสียทรัพย์สิน รวมทั้ง ผู้ปฏิบัติการทางการแพทย์ระหว่างการปฏิบัติหน้าที่ โดยเป็นการเชื่อมโยง ข้อมูลระบบแสดงพิกัด และความเร็วของรถพยาบาล เข้ากับศูนย์บริหารจัดการเดินรถด้วยระบบกำหนดตำแหน่งบนโลก GPS ของกรมการขนส่งทางบก ให้สามารถดูพิกัด การเคลื่อนที่ และความเร็วได้ทันทีแบบ Real time แสดงสถานะของพนักงานขับรถ เป็นรถของโรงพยาบาลใด การแสดงผลข้อมูลขับรถ เร็วกว่ากำหนดหรือไม่ ซึ่งจะเป็นการช่วยยกระดับ มาตรฐานการขับรถให้ปลอดภัย สร้างความปลอดภัย แก่ผู้เจ็บป่วยฉุกเฉิน ญาติผู้ป่วยและบุคลากร ทางการแพทย์ที่อยู่บนรถพยาบาลและระหว่างปฏิบัติหน้าที่
หม่อมหลวงปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานเปิดการเสวนา "เปิดใจ...การต่อต้านการค้ามนุษย์ของไทย" และเปิดเผยถึง การช่วยเหลือแรงงานประมงไทยกลับจากสาธารณรัฐอินโดนีเซียว่ายังเหลือเพียงไม่กี่รายเท่านั้น
ส่วนการจัดตั้งศูนย์ร่วมบริการช่วยเหลือแรงงานต่างด้าว ร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2559 องค์กรเหล่านี้ในพื้นที่หลายแห่งทำงานได้ดีและมีความเข้มแข็ง ภาครัฐต้องเข้าไปสนับสนุนเพื่อให้การบริหารจัดการในภาพรวมเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยในเบื้องต้นจะจัดตั้งศูนย์ช่วยเหลือแรงงานฯ ใน 10 จังหวัด (เชียงใหม่ สมุทรสาคร สุราษฎร์ธานี สงขลา สมุทรปราการ ชลบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น ตาก และระนอง) เพื่อให้การช่วยเหลือแรงงานที่ประสบปัญหากับนายจ้างจนต้องออกจากงาน โดยจะเริ่มดำเนินการได้ภายในเดือนสิงหาคมนี้
ส่วนในการประกาศอัตราค่าจ้างตามมาตรฐานฝีมือ ปลัดกระทรวงแรงงานกล่าวว่า จะช่วยสร้างแรงจูงใจให้มีการพัฒนาฝีมือ เพื่อให้ได้รับค่าจ้างสูงขึ้น ผู้ประกอบการสามารถคัดเลือกแรงงานที่มีฝีมือเข้าทำงาน ทำให้สินค้าและบริการมีคุณภาพได้มาตรฐาน ช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานฝีมือในสาขาอาชีพที่ขาดแคลน และรองรับการพัฒนาประเทศตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ ทั้งนี้ ที่ผ่านมา กระทรวงแรงงาน ได้ประกาศการกำหนดอัตราค่าจ้าง ตามมาตรฐานฝีมือ บังคับใช้ไปแล้ว 35 สาขาอาชีพ และในวันที่ 10 สิงหาคมนี้ จะบังคับใช้อีก 20 สาขาอาชีพ ในกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนอะไหล่ยานยนต์ ยานยนต์ อัญมณี และกลุ่มโลจิสติกส์