การรับมือ ปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้ง กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้นำสื่อมวลชนมาที่โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาบางพลวง อ.เมือง จ.ปราจีนบุรี เพื่อศึกษาความเหมาะสมและผลกระทบสิ่งแวดล้อมโครงการบรรเทาอุทกภัยและภัยแล้งในแม่น้ำปราจีนบุรีและแม่น้ำสาขา นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีฝ่ายวิชาการ กรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า จังหวัดปราจีนบุรี ไม่ได้รับผลกระทบเฉพาะอุทกภัยแต่ยังมีปัญหาในเรื่องภัยแล้ง รวมถึงน้ำเค็มที่ลุกล้ำมาถึงแม่น้ำปราจีนบุรี ซึ่งอยู่ห่างจากทะเลประมาณ 145 กิโลเมตร ผลกระทบดังกล่าว กรมชลประทานได้พยายามแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ถึงปลายน้ำ โดยใช้การบูรณาการแผนงานทั้งหมดเข้าด้วยกัน พร้อมกับพัฒนาแหล่งเก็บน้ำบริเวณต้นน้ำอย่างถาวร เช่นโครงการอ่างเก็บน้ำห้วยโสมง (ห้วย-สะ-โหมง) ซึ่งเป็นลำน้ำสาขาในลุ่มน้ำปราจีนบุรี ซึ่งอยู่ในแผนพัฒนาของกรมชลประทานโดยจะใช้กักเก็บน้ำได้ในช่วงสิ้นฤดูฝนที่จะถึงนี้
นอกจากนี้จะมีการพัฒนาประตูระบายน้ำบริเวณอ่างเก็บน้ำตอนบน ซึ่งประตูระบายน้ำนี้ มีหน้าที่กักเก็บไว้ใช้ในยามจำเป็น และจัดการจราจรของน้ำในพื้นที่โดยรอบของ อ.เมืองกบินทร์บุรี ส่วนการสร้างคันกั้นน้ำ จะสามารถป้องกัน อ.กบินทร์บุรีได้ทั้งอำเภอจากปัญหาอุทกภัยที่จะเกิดขึ้นในช่วงฤดูฝน โดยเฉพาะช่วงฤดูแล้งจะสามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ได้ ประมาณ 20 ล้านลูกบาศก์เมตร
ในส่วนของแม่น้ำปราจีนบุรี จะต้องมีการขุดลอกลำน้ำหรือแม่น้ำระยะทางประมาณ 50 กิโลเมตรเพื่อเพิ่มศักยภาพในการระบายน้ำจาก 450 ลูกบาศก์เมตร/วินาที เป็น 550 ลูกบาศก์เมตร/ วินาที นอกการการแก้ปัญหาเรื่องอุทกภัยแล้ว ช่วงฤดูแล้ง ปริมาณน้ำทางตอนบนของอ่างเก็บน้ำยังมีปริมาณค่อนข้างน้อยไม่เพียงพอต่อปริมาณความต้องการใช้น้ำ กรมชลประทานจึงวางแผนดึงน้ำจากแม่น้ำปราจีนบุรีเข้าสู่ระบบให้น้อยที่สุดเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อน้ำอุปโภค-บริโภคของประชาชนที่อยู่ทางตอนท้ายของลำน้ำโดยจะสร้างประตูระบายน้ำกั้นแม่น้ำปราจีนบุรีเพื่อลดการลุกล้ำของน้ำเค็มที่จะเข้าในจังหวัดปราจีนบุรีได้อีกด้วย
สำหรับปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากที่เกิดขึ้นใน ที่อ.เมืองปราจีนบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่เศรษฐกิจหลัก และพื้นที่อุตสาหกรรมของจังหวัด รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า จะมีการปรับปรุงประสิทธิภาพของการระบายน้ำอีกประมาณ 7 สาย เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการระบายน้ำ โดยมั่นใจว่าหากมีฝนมากเทียบเท่าปี 2556 จะสามารถบรรเทาปัญหาอุทกภัยได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 ส่วนช่วงฤดูแล้ง จะมีการบริหารจัดการน้ำโดยใช้การจัดสรรน้ำแบบรอบเวร เน้นการพูดคุยสื่อสารระหว่างอำเภอ ตำบล หมู่บ้าน พร้อมดึงน้ำจากแม่น้ำปราจีนบุรีที่โปรยน้ำมาจากด้านบน โดยเฉพาะน้ำที่กักเอาไว้ในช่วงปลายฤดูฝน ปริมาณกว่า 250 ลูกบาศก์เมตร
จากโครงการดังกล่าวที่จะเห็นได้ว่า กรมชลประทานฯ ไม่ได้มีความนิ่งนอนใจและมีความพยายามที่จะช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วมและน้ำแล้งให้กับประชาชนในพื้นที่ และพื้นที่ใกล้เคียง ให้ได้รับความเดือดร้อนน้อยที่สุด โดยใช้การบริหารจัดการน้ำที่เป็นระบบประกอบกับศึกษาขั้นตอนและผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นอย่างละเอียดเพื่อให้ได้โครงการที่ดีและเป็นประโยชน์ที่สุด