ติดGPSคุมความเร็วรถพยาบาลไม่เกิน80กม./ชม.หลังเกิดอุบัติเหตุเจ็บ-ตายซ้ำ

04 สิงหาคม 2559, 14:40น.


การควบคุมความเร็ว รถพยาบาล ในวันนี้ กรมการขนส่งทางบก  กระทรวงคมนาคม ไดร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) การบริหารจัดการพฤติกรรมการขับขี่และยกระดับมาตรฐานการขับรถพยาบาลให้ปลอดภัย โดยติดระบบ GPS ในรถพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก เปิดเผยว่า เบื้องต้นมีการติดอุปกรณ์ GPS ในรถพยาบาลนำร่องแล้ว 165 คัน ใน 19 จังหวัด และคาดว่าจะสามารถติดระบบดังกล่าวในรถพยาบาลในสังกัดกระทรวงสาธารณสุขครบ 5,000 คัน ในปี 2560 และเตรียมขยายผลไปถึงรถมูลนิธิต่างๆ ด้วย  โดยการติด GPS จะติดเพื่อติดตามตำแหน่ง ควบคุมความเร็ว ระบบสื่อสารสัญญาณภาพผ่านกล้อง CCTV ในการติดตามพฤติกรรมการขับรถ โดยจะต้องขับรถไม่เกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ไม่ขับรถกระโชก หรือหวาดเสียว หากขับรถเกิน 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จะมีสัญญาณเตือนเสียงดัง และระบบนี้จะส่งข้อมูลมาที่ต้นทางทันที



นอกจากนี้ยังแสดงเส้นทางการขับรถ หากมีผู้ป่วยวิกฤต ทางกรมการขนส่งทางบกจะประสานงานกับเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการเคลียร์ช่องทางจราจร เพื่ออำนวยความสะดวก มีเครื่องรูดบัตรเพื่อแสดงตัวผู้ขับรถ โดยข้อมูลในบัตรจะบ่งบอกว่าผู้ขับขี่ทำงานมาแล้วกี่ชั่วโมง โดยระบบดังกล่าวมีการออกแบบซอฟแวร์เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งาน ติดตามข้อมูลแบบ Real time ซึ่งระบบ GPS ขณะนี้มีต้นทุนที่ต่ำ หน่วยงานสถานพยาบาลจะจ่ายเพียง 300 บาทต่อเดือนเท่านั้น โดยมองว่าระบบนี้จะเกิดประโยชน์ในระยะยาว 



นายแพทย์ โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า จากข้อมูลสถิติการเกิดอุบัติเหตุของรถพยาบาล กระทรวงสาธารณสุข ตั้งแต่เดือน มกราคม 2558 - เดือนกรกฎาคม 2559 พบว่าเกิดอุบัติเหตุขึ้น 60 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 11 ศพ บาดเจ็บ 114 คน  ดังนั้น การจำกัดความเร็ว 80 กิโลเมตร ต่อชั่วโมง จะปลอดภัยกับผู้ป่วย ญาติ เจ้าหน้าที่ในรถเป็นอย่างมาก และเป็นอัตราความเร็วที่สามารถเคลื่อนย้ายผู้ป่วยได้ทันท่วงที เนื่องจากในรถพยาบาลมีอุปกรณ์กู้ชีพ อุปกรณ์ทางการแพทย์อยู่แล้ว โดยรถพยาบาลทุกคันจะต้องมีโครงสร้างตัวถังที่แข็งแรง ติดตั้งอุปกรณ์ความปลอดภัยตามเกณฑ์ เช่น เข็มขัดที่นั่งของญาติผู้ป่วย บุคลากรทางการแพทย์ พร้อมทั้งทำประกันภัยรถพยาบาลประเภทที่ 1 เมื่อเกิดอุบัติเหตุ ให้มีการคุ้มครองทั้งผู้ป่วย ญาติผู้ป่วย และบุคลากรในรถด้วย 



สำหรับพนักงานขับรถพยาบาล จะต้องมีคุณลักษณะพิเศษเพิ่มเติม คือ ก่อนขับรถจะมีการตรวจแอลกอฮอล์จากลมหายใจ ต้องเป็น 0 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ทุกครั้ง, ต้องมีการตรวจสอบหาสารเสพติดปีละ 2 ครั้ง และการทดสอบสุขภาพจิตปีละ 1 ครั้ง, จะต้องขับรถไม่เกิน 4 ชั่วโมง และมีเวลาพักระหว่างทาง สุดท้ายคือต้องผ่านการอบรมเพิ่มทักษะและประสบการณ์การขับรถพยาบาล การดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินเบื้องต้น และสถานการณ์จำลองต่างๆ รวมทั้งมีวินัยการขับรถโดยยึดกฎจราจรอย่างเคร่งครัด และถือปฏิบัติการขับขี่ปลอดภัยตลอดเวลา

ข่าวทั้งหมด

X