หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี นายกอรปศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แถลงมติคณะรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ โดย รัฐบาลได้หารือกับธนาคารออมสิน เพื่อเสนอมาตรการช่วยเหลือ ผู้มีรายได้น้อยในชุมชนเมือง 3ด้าน ประกอบด้วย มาตรการสินเชื่อประชารัฐ เพื่อประชาชน เพื่อใช้เป็นเงินหมุนเวียน ในการประกอบอาชีพ กลุ่มเป้าหมาย คือ แม่ค้า พ่อค้า รถจักรยานยนต์รับจ้าง กลุ่มแม่บ้านและผู้รับจ้างทั่วไป เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน และ ชำระหนี้สินรวมถึงหนี้นอกระบบ ในวงเงินรายละไม่เกิน 50,000 บาท ระยะเวลาชำระ 5 ปี มาตรการประชารัฐเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินประชาชน เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของลูกค้าธนาคารออมสินที่อยู่ระหว่างชำระหนี้กับธนาคาร โดยพักชำระหนี้เงินต้น จ่ายเฉพาะดอกเบี้ยได้นานสูงสุด 3 ปี และ ขยายเวลาชำระหนี้ได้สูงสุดไม่เกิน 20 ปี มาตรการอบรมเพื่อพัฒนาอาชีพ สร้างรายได้ความรู้ทางการเงินแก่ผู้ประกอบอาชีพ โดยรัฐบาลสนับสนุน งบประมาณ 150 ล้านบาท เริ่มตั้งแต่ กรกฎาคม ถึง กันยายน หวังสร้างอาชีพ ความรู้ทางการเงินให้ผู้มีรายได้น้อย
โดยกระทรวงพาณิชย์ยังมีการดำเนินการจัดตั้งสถาบันส่งเสริมสินค้าเกษตนวัตกรรม เพื่อให้คำปรึกษาแบบองค์รวม เชื่อมโยงหน่วยงานราชการเข้าด้วยกัน ประสานผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่นักวิจัย เกษตรกรผู้ผลิต ผู้ประกอบ ในการต่อยอดเชิงพาณิชย์ อำนวยความสะดวก อาทิ ขอใบอนุญาตจากองค์การอาหารและยา หรือ อย. การจดทะเบียน ทรัพย์สินทางปัญญา หรือการขอสิทธิประโยชน์การลงทุน จากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ BOI และพัฒนาตลาดให้กับสินค้าเกษตรนวัตกรรม โดยมีเป้าหมาย สร้างมูลค้าสินค้าเกษตรนวัตกรรม สู่ตลาด 20,000 ล้านบาท ใน 5 ปี สร้างผลิตภัณฑ์นวัตกรรมอย่างน้อย 10 รายการ คณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบในหลักการและให้ดำเนินการ ด้วยงบประมาณ 750 ล้านบาท
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรียังได้พิจารณาร่างบันทึกความร่วมมือ ด้านระบบราง ระหว่าง กระทรวงคมนาคม ประเทศไทย กับ กระทรวงที่ดินโครงสร้าง พื้นฐานการขนส่งและการท่องเที่ยว ประเทศญี่ปุ่น โดยในวันที่ 6 ส.ค. รัฐมนตรี กระทรวงที่ดินโครงสร้าง พื้นฐานการขนส่งและการท่องเที่ยว ประเทศญี่ปุ่น เดินทางมาประเทศไทย เพื่อลงนามความรู้มือด้านระบบราง เพื่อพัฒนาเส้นทางตามแนวเศรษฐกิจตะวันออกและตะวันตกของไทย โดยญี่ปุ่นจะมาศึกษาเพื่อพัฒนาเส้นทางดังกล่าว ทั้งการขนส่ง และเศรษฐกิจ
ส่วนการพัฒนารถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ -เชียงใหม่ โดยประเทศญี่ปุ่นจะทำรายงานขั้นสุดท้าย เกี่ยวกับรายละเอียดเส้นทาง ตำแหน่งสถานี ต้นทุนเบื้องต้น ให้เสร็จภายในเดือนพฤศจิกายน และมีการพิจารณารูปแบบการลงทุนร่วมกันระหว่างไทยกับญี่ปุ่น อีกครั้ง ทั้งนี้ทางญี่ปุ่นจะให้ความช่วยเหลือแผนแม่บทการพัฒนาเมืองและพื้นที่เศรษฐกิจตามแนวทางรถไฟให้กับประเทศไทย โดยไม่คิดค่าใช้จ่ายใดๆ