หลังจากมีการเปิดรับบริจาคเงินจำนวน 10 ล้านบาท เพื่อซื้อที่ดินด้านข้างพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก เขตบางรัก กรุงเทพฯ ซึ่งมีราคาเต็ม 40 ล้านบาท โดย รศ .วราพร สุรวดี ประธานกรรมการมูลนิธิอินสาท-สอาง นำเงินส่วนตัวมัดจำแล้ว 30 ล้านบาท พร้อมระดมเงินทุนให้ได้อีก 10 ล้านบาท เพื่อซื้อที่ดินข้างพิพิธภัณฑ์ ที่เตรียมจะสร้างตึกสูง 8 ชั้น บรรยากาศในวันนี้ แม้จะเป็นวันหยุดอีกหนึ่งวันเนื่องในวันเข้าพรรษา ก็มีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ ทยอยเดินทางมาเที่ยวชมเป็นจำนวนมากอย่างไม่ขาดระยะ
พิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก มีพื้นที่กว่า 1 ไร่ 25 ตารางวา ประกอบด้วยอาคาร 4 หลัง และต้นไม้สีเขียวสบายตา ตามความตั้งใจของ รศ. วราพร ซึ่งนำบ้านและทรัพย์สิน ที่ได้รับมรดกจากคุณแม่ มาตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ให้เยาวชนรุ่นหลังได้ศึกษา และมีการโอนกรรมสิทธิ์ ให้กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2547 เมื่อเดินเข้าไปถึงจะพบกับอาคารหลังที่ 1 เป็นอาคารไม้ 2 ชั้น สร้างขึ้นตั้งแต่ พ.ศ.2479 ในอดีตเป็นอาคารอยู่ของครอบครัวสุรวดี สำหรับสุภาพสตรี ภายในชั้นล่าง ประกอบด้วย ห้องรับแขก ห้องอาหาร ห้องเก็บหนังสือ และห้องน้ำแบบโบราณที่เป็นโถส้วมยุโรปโบราณ ซึ่งในสมัยก่อนไม่นิยมสร้างไว้ในบ้าน แต่คุณยายของ รศ.วราพรคือ นางสาวมาลี เหมือนทองจัน ป่วย จึงต้องสร้างห้องน้ำไว้ในบ้าน ซึ่งเมื่อทำธุระเสร็จจะนำไปทิ้งบริเวณด้านข้างนอก
ส่วนชั้นบน ประกอบด้วย 3 ห้องนอน และห้องแต่งตัวแบบยุโรป ที่มีกระจกรูปไข่ สามารถมองได้รอบตัว 3 ด้าน รวมทั้งมีการจัดเเสดงชามกระเบื้องเบญจรงค์ลายเทพพนม สมัยอยุธยาตอนปลายถึงรัตนโกสินทร์ อาคารหลังที่ 2 เป็นเรือนไม้สัก ในอดีตตั้งอยู่ในซอยงามดูพลี ทุ่งมหาเมฆ และได้มีการรื้อมาประกอบใหม่ ซึ่งเป็นคลินิกของนายแพทย์ฟรานซิส คริสเตียน หมอทำคลอดโรงพยาบาลวชิระ สามีคนแรกของคุณแม่ของ รศ.วราพร ในปัจจุบันเป็นที่ จัดแสดงรูปวาด เพื่อจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยว ส่วนด้านบน ที่เป็นที่พักอาศัยของนายแพทย์ฟรานซิส ปัจจุบันยังคงเก็บข้าวของเครื่องใช้ เครื่องมือแพทย์ รวมทั้ง ยังมีรูปหล่อ ของนายแพทย์ฟรานซิส ซึ่งเป็นผลงานของศาสตราจารย์ศิลป์ พีระศรี บรมครูศิลปกรรมร่วมสมัยของประเทศไทย ตั้งอยู่บริเวณหน้าบันไดชั้นบนของตัวอาคาร
ถัดไปด้านซ้ายมือเป็นอาคาร หลังที่ 3 ในอดีต เป็นอาคาร 8 ห้อง สำหรับเช่าเพื่อพักอาศัยราคา 300 บาท ปัจจุบันใช้เก็บเอกสารโฉนดที่ดิน จัดแสดงแสตมป์และเหรียญเงินโบราณ เครื่องมือประกอบอาหาร ส่วนด้านบน เป็นที่จัดแสดงนิทรรศการภาพรวมของกรุงเทพมหานคร ที่แสดงพัฒนาการการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองสังคมและวัฒนธรรม ตั้งแต่ในสมัยอยุธยาถึงปัจจุบัน และในอาคารหลังสุดท้าย หลังที่ 4 เป็นบ้านไม้ชั้นเดียวมีใต้ถุนสูง ปัจจุบันใต้ถุนอาคารเป็นสำนักงานของพิพิธภัณฑ์
ส่วนด้านบน จะเป็นที่อยู่อาศัยของ รศ.วราพร สุรวดี หากใครสนใจจะมาเยี่ยมชมความสวยงามความร่มรื่นและเป็นแหล่งเรียนรู้วิถีชีวิตคนกรุงเทพ ของพิพิธภัณฑ์ชาวบางกอก สามารถมาชมได้ อยู่ภายในซอยเจริญกรุง 43 เปิดให้ชมตั้งแต่ วันพุธ – วันอาทิตย์ เวลา 10.00 - 16.00 น. โดยเปิดให้นักท่องเที่ยว เข้าชมโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
ผู้สื่อข่าว:เกตุกนก ครองคุ้ม