กรธ.แจงความสำคัญร่างรธน.ลด-ช่องโหว่-เหลื่อมล้ำ-สกัดทุจริต

13 กรกฎาคม 2559, 16:32น.


การจัดการเสวนาวิชาการ หัวข้อ "เข้าใจร่างรัฐธรรมนูญใหม่ก่อนไปลงประชามติ" ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นายปกรณ์ นิลประพันธ์ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. กล่าวว่า ในการร่างรัฐธรรมนูญได้นำความคิดเห็นของประชาชนมาบรรจุในร่างรัฐธรรนนูญ พร้อมนำสภาพปัญหาของไทย เช่น ปัญหาความเหลื่อมล้ำในทุกมิติ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม และมีความแตกแยกของคนในสังคม โดยสาเหตุมาจากการทุจริตคอร์รัปชั่น การบังคับใช้กฎหมายมีความไม่เป็นธรรมและขาดวินัย และการยึดติดกับระบบใบอนุญาตทำให้เกิดช่องโหว่ในการทุจริต ไม่โปร่งใส ประชาชนไม่มีส่วนร่วมในการตรวจสอบ ทั้งหมดนี้เป็นปัญหาที่คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญพบและแก้ไขอย่างเร่งด่วน พร้อมกันนี้ยังบัญญัติให้ร่างรัฐธรรมนูญคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน โดยทุกคนมีสิทธิเสรีภาพเท่าเทียมกันมาแต่กำเนิดจึงไม่ต้องมีกฎหมายมาบัญญัติว่าต้องมีการรองรับสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพราะประชาชนสามารถใช้สิทธิเสรีภาพได้เต็มที่และต้องได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียมกัน  โดยร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้เขียนว่าสิ่งใดที่รัฐธรรมนูญไม่ได้บัญญัติห้ามไว้ก็สามารถทำได้หมด เช่น การใช้สิทธิเสรีภาพต้องไม่กระทบกับความมั่นคงของรัฐ ความสงบเรียบร้อยและสิทธิของคนอื่น ก็สามารถทำได้  นายปกรณ์ยังย้ำว่า สำหรับสิทธิเรื่องเบี้ยผู้สูงอายุ สิทธิประกันสุขภาพบัตรทอง ยังคงมีอยู่เช่นเดิม แต่ได้ยกระดับคุณภาพให้สูงขึ้น ด้านการศึกษารัฐต้องจัดการศึกษาภาคบังคับให้ฟรีไม่น้อยกว่า 12 ปี



ด้านนายประพันธ์ นัยโกวิท คณะกรมการ่างรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกลไกป้องกันการทุจริตในทางการเมืองว่า  ร่างรัฐธรรมนูญได้เน้นแก้ปัญหาการทุจริตเลือกตั้งและการซื้อสิทธิขายเสียง โดยมาตรา 98 ได้กำหนดคุณสมบัติของผู้ที่ต้องห้ามไม่ให้ลงสมัครรับเลือกตั้ง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) เช่น ห้ามผู้ที่เคยต้องคำพิพากษาของศาลในกรณีร่ำรวยผิดปกติ ทุจริต และกระทำความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ลงสมัครรับเลือกตั้ง  รวมถึง กำหนดกลไกทางกฎหมายในเรื่องระบบการจัดซื้อจัดจ้าง ที่ปิดช่องทางการทุจริต ขณะเดียวกันประชาชนก็ยังสามารถมีส่วนร่วมในการบริหารบ้านเมือง โดยชี้เบาะแสการทุจริต และดำเนินการฟ้องร้องเจ้าที่หากพบว่ากระทำผิดหรือไม่ปฏิบัติหน้าที่ได้



นายประพันธ์ ยังอธิบายอธิบายให้ผู้ที่เข้ามารับฟังการบรรยายได้ทราบถึงที่มา ซึ่งอำนาจรัฐ โดยในการเลือกตั้ง ส.ส. ว่า ในร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับนี้จะใช้การเลือกตั้งแบบบัตรใบเดียวในการเลือก ส.ส.เขต และนำทุกคะแนนมานับทุกคะแนนเสียงซึ่งผู้ที่ไม่ได้รับการเลือกตั้งเป็น ส.ส. เขตจะถูกนำไปคิดเป็นคะแนนของพรรคเพื่อคำนวณสัดส่วน ส.ส. ระบบบัญชีรายชื่อ ดังนั้นระบบการเบือกตั้งดังกล่าวจึงทำให้ทุกคะแนนเสียงของประชาชนมาใช้สิทธิจึงไม่สูญเปล่า ในกำหนดการจัดสัมมนาดังกล่าว ได้มีการเชิญนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธาน กรธ. มากล่าวเสวนาวิชาการ หัวข้อ "เข้าใจร่างรัฐธรรมนูญใหม่ก่อนไปลงประชามติ"  แต่ปรากฏว่าเมื่อถึงเวลาของการเสวนา ทางเจ้าหน้าที่ กรธ. ได้แจ้งว่า นายมีชัยไม่สบายไม่สามารถมาร่วมงานได้ จึงได้มอบหมายให้กรธ. เป็นผู้ชี้แจง

ข่าวทั้งหมด

X