หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี พลตรีสรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายกรัฐมนตรี ยังฝากถึงกระทรวงมหาดไทย กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รวมทั้งกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้หาแอพลิเคชั่น เพื่อให้บุคคลด้อยโอกาสได้เข้าถึงร่างรัฐธรรมนูญ 2559 และยังฝากถึงประชาชนเรื่องการรับและไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ว่าให้พิจารณาจากคุณค่าของรัฐธรรมนูญเป็นหลัก โดยไม่อยากให้มองถึงเหตุผลอื่น เนื่องจากก่อนหน้านี้นายกรัฐมนตรีได้ทราบมาว่า มีกลุ่มคนที่จะไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ เพราะอยากให้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. ทำงานต่อ
ส่วนที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีมติจ่ายเงินทดแทนการประกันชีวิตให้กับเจ้าหน้าที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่มีมาตั้งแต่ปี 2547 - 2552 โดยมีนโยบายจ่ายเงินเยี่ยวยาจากภาครัฐให้กับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน ที่เสียชีวิต บาดเจ็บ พิการ รายละ 600,000 บาท ส่วนในปี 2553 ได้มีระเบียบของสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ผู้ปฏิบัติงานใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้รับเงินค่าทดแทนประกันชีวิต อีกรายละ 500,000 บาท ดังนั้นเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เสียชีวิต พิการ ตั้งแต่ปี 2553 ถึง ปัจจุบัน จะได้รับเงิน ทั้งสิ้น 1,100,000 บาท จึงได้มีการเสนอให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในปี 2547 - 2552 จำนวน 1,228 คน ได้รับเงินค่าทดแทนประกันชีวิต 500,000 บาทด้วยเช่นกัน ส่วนเจ้าหน้าที่ที่ตกหล่นจาก 1 พันกว่ารายนี้ ต้องนำมาแจ้งให้คณะรัฐมนตรีทราบก่อน
นอกจากนี้ คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช.เสนอ ร่าง พรบ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมาย วิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งจากกฎหมายเดิม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 182 ที่กำหนดไว้ว่า กรณีที่ศาลออกหมายจับและไม่ได้ตัวจำเลยภายใน 1 เดือน ศาลสามารถอ่านคำพิพากษาลับหลังได้ ซึ่งเมื่อจำเลยใช้สิทธิอุทธรณ์หรือฎีกาแล้ว ก็จะมอบหมายให้ทนายความเป็นผู้ดำเนินการแทนจำเลย จึงมีการออกร่าง พรบ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมาย โดยระบุว่า กรณีที่จำเลย ไม่ได้ถูกคุมขัง และต้องการยื่นอุทรณ์ หรือยื่นฎีกา จำเลยต้องจะมายื่นอุทรณ์หรือฎีกาด้วยตัวเอง ต่อเจ้าพนักงานศาล ถ้าไม่แสดงตนศาลจะไม่รับพิจารณา เพื่อให้เกิดความสงบสุขและยุติธรรม
ครม.ยังเห็นชอบตามที่ คณะกรรมการป้องกันปราบปรามการทุจริตในภาครัฐหรือ ปปท.เสนอเพิ่มประสิทธิภาพศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตขึ้น จากการก่อตั้งโดยรัฐบาลที่แล้ว จากการสำรวจพบว่าศูนย์ดังกล่าว ไม่มีการดำเนินงานอย่างจริงจัง ปปท.จึงขอเพิ่มกำลังพลจากกระทรวงต่างๆ ที่ศูนย์ปฏิบัติการต่อต้านการทุจริตได้ตั้งขึ้น เพื่อดูแลศูนย์และทำงานอย่างเข้มงวดมากขึ้น และยังเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ให้ประชาชนสามารถร้องทุกข์การทำงานของภาครัฐในกระทรวงต่างๆ โดยตรง