การแจกสาระสำคัญร่างรัฐธรรมนูญปลอม นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า อยู่ที่การตีความคำว่าปลอม หากมีเจตนาทำขึ้นเพื่อให้เหมือนหรือเข้าใจว่าเป็นเอกสารของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ(กรธ.) จะเข้าข่ายผิดมาตรา61 วรรค2 ของพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ แต่หากเป็นแสดงความเห็นต่างๆนั้น ไม่มีความผิด และต้องให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการตรวจสอบ เพื่อดูว่าเป็นข้อความเท็จหรือเป็นเพียงความเห็น พร้อมดูเจตนาว่าต้องการทำให้ประชาชนเกิดความสับสนหรือไม่ นายวิษณุกล่าววว่า การแจกจ่ายสาระสำคัญความเห็นแย้งสามารถแจกจ่ายได้ หากไม่เข้าข่ายการปลุกระดม เพราะมีผู้แสดงความเห็นส่วนตัวอยู่ตลอด จึงต้องดูเจตนาแรกว่าต้องการสิ่งใด เชื่อว่าประชาชนทราบว่าการกระทำใดจะเข้าข่ายผิดกฎหมายใด ทั้งคำสั่งคสช.ที่ห้ามชุมนุมเกิน5คน และพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ จึงขอให้อย่าประมาทเพราะอาจเข้าข่ายความผิดได้ ส่วนจะมีการผ่อนปรนมาตรการต่างๆหรือไม่นั้น เพราะส่วนตัวไม่ทราบ
ส่วนการเสนอรายนามสมเด็จพระสังฆราชตามมติของมหาเถระสมาคม เป็นไปตามขั้นตอน ของมาตรา 7 วรรคสอง ของ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ นายวิษณุย้ำว่าต้องเป็นสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณะศักดิ์ รวมถึงเป็นผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรง สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ส่วนที่หลายฝ่ายกังวลว่าการเสนอรายนามเป็นหน้าที่ของใคร คณะกรรมการกฤษฎีกาตีความว่าสามารถทำได้ทั้ง 2 ฝ่าย คือรัฐบาลและ มส. แต่ต้องเป็นไปตามมติของ มส. เท่านั้น พร้อมยืนยันว่าผู้ตรวจการแผ่นดินไม่มีอำนาจสั่งการให้รัฐบาลปฏิบัติตาม เป็นเพียงข้อเสนอแนะมายังรัฐบาลเท่านั้น นายวิษณุบอกด้วยว่าแม้จะมีมติของกฤษฎีกามาแล้ว แต่ยังมีหลายประเด็นที่ต้องวินิจฉัย ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบ จึงยังไม่สามารถส่งรายชื่อให้นายกรัฐมนตรีทูลเกล้าฯได้ทันที