กลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) นำโดย นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธานนปชจัดกิจกรรม เปิดห้องประชุม "พ.อ. ดร.อภิวันท์ วิริยะชัย" อย่างเป็นทางการ บริเวณตรงข้ามสถานีโทรทัศน์ พีซทีวี ชั้น5 ห้างอิมพีเรียล ลาดพร้าว โดยมีแกนนำกลุ่มนปช.และบุคคลต่างๆเข้าร่วม เช่นนายจตุพร พรหมพันธ์ ประธานนปช. นายจุตุรนต์ ฉายแสง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ แต่ไม่พบว่าพล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อดีตนายกรัฐมนตรี เดินทางมาเข้าร่วมตามที่มีกระแสข่าวก่อนหน้านี้ บรรยากาศโดยทั่วไปมีกลุ่มมวลชนเข้าร่วมในกิจกรรมครั้งนี้อย่างคึกคัก และมีเจ้าหน้าที่ตำรวจจำนวนหนึ่งคอยดูแลความสงบในพื้นที่ โดยภายในงานมีการเปิดวิดีโอและร่วมกันร้องเพลงเพื่อรำลึกถึงพ.อ.อภิวันท์ด้วย ซึ่งบรรยากาศเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
ด้านโดยนายจตุพร กล่าวว่า สำหรับห้องประชุมจะใช้ในกิจกรรมเชิงประชาธิปไตย และจะเป็นเส้นทางหนึ่งที่จะเดินทางไปสู่ประชาธิปไตยให้ได้ ส่วนการเดินทางไปกองปราบของ 19 แกนนำ นปช. ในวันที่ 15 กรกฎาคมนี้ เพื่อรับทราบข้อกล่าวหาในการรวมตัวชุมนุมทางการเมืองกันเกิน 5 คน จากการเปิดศูนย์ปราบโกงประชามติว่า ขณะนี้ กำลังให้ฝ่ายกฎหมายพิจารณาว่าจะสามารถขอเลื่อนการรับทราบข้อกล่าวหาออกไปอีกได้หรือไม่
และในสัปดาห์หน้า นปช. จะไปหารือกับศูนย์รักษาความสงบเรียบร้อยเพื่อสนับสนุนการดำเนินการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ของรัฐบาล เพื่อขอเข้าร่วมสังเกตการณ์การออกเสียงประชามติ และจะเดินทางไปพบกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. เพื่อสอบถามการมีส่วนร่วมของประชาชนในการสังเกตการณ์การออกเสียงประชามติ เนื่องจากขณะนี้ภาครัฐได้มีการกำหนดตัวเจ้าหน้าที่ไว้ทั้งหมดแล้ว
ด้าน นายจาตุรนต์ กล่าวถึงการแสดงความคิดเห็นต่อรัฐธรรมนูญในการทำประชามติ ว่า ที่ยังไม่เปิดโอกาสให้มีการแสดงความเห็นอย่างกว้างขวาง นั้นแสดงให้เห็นว่าฝ่ายมีอำนาจต้องการให้ร่างรัฐธรรมนูญผ่านการทำประชามติโดยไม่คำนึงหลักการใด จึงทำให้การลงประชามติในคร้งนี้ขาดการชอบธรรม ซึ่งหากร่างผ่านจะเป็นร่างที่ไม่ได้รับการยอมรับและมีปัญหาไม่สิ้นสุด แต่ส่วนตัวคิดว่าตามกฎหมายประชามติยังมีช่องทางแสดงความเห็นได้บ้าง ดังนั้นต้องช่วยการใช้สิทธิแสดงความคิดเห็น
นายจาตุรนต์ ยังระบุว่า มีบุคคลไปบอกกับประชาชนโดยเฉพาะในพื้นที่ภาคเหนือและอิสานว่า ให้ทำประชามติผ่านไปก่อน ต่อไปจะได้เลือกตั้งและเลือกรัฐบาลที่ต้องการได้ ซึ่งถือเป็นการบิดเบือนเพราะหากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ผ่านจะรัฐบาลจะยังคงมีอำนาจและเข้มแข็งต่อไปจนกว่ารัฐบาลใหม่จะเข้ามา ดังนั้นจึงมองว่าร่างรัฐธร่มนูญจะมีความหมายคือประชาชนจะต้องได้รัฐบาลที่ต้องการ จริงหรือไม่ และรัฐบาลหลังการเลือกตั้งจะฟังเสียงประชาชนจริงหรือไม่ ส่วนกลุ่มทุนล้มประชามตินายจาตุรนต์ย้ำว่า ไม่มีกลุ่มใดต้องการที่จะล้มประชามติ จึงมองว่ามีความพยายามบิดเบือนเนื่องจากการประเมินว่าหากหากประชาชนได้รับข้อมูลเพิ่มขึ้นจะมีแนวโน้มไม่เห็นด้วย กับร่างรัฐธรรมนูญ รวมไปถึงกรณีที่มีการกล่าวหาว่านักศึกษามีการแจกรัฐธรรมนูญปลอม ก็ไม่มีจริง ซึ่งส่วนตัวเคยเห็นแต่เอกสารที่เป็นความเห็นแย้งต่อร่างรัฐธรรมนูญ เท่านั้น และไม่ได้มีเนื้อหาบิดเบือนเนื้อหาแต่อย่างใด