การลงพื้นที่จังหวัดน่านไปติดตามโครงการปลูกป่าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) นายธาตรี ริ้วเจริญ ผู้ช่วยผู้ว่าการกิจการสังคม การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เปิดเผย ในโอกาสนำสื่อมวลชน ย้อนรอย 22 ปี โครงการปลูกป่ากฟผ. และตรวจเยี่ยมพื้นที่ป่าปลูกของกฟผ. ในจังหวัดน่านว่า กฟผ. ได้ปลูกป่าในพื้นที่จังหวัดน่านอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2537จนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลากว่า 22 ปี มีต้นไม้จำนวนกว่า 16,560,000 ต้น ในพื้นที่ 82,800 ไร่ ครอบคลุมพื้นที่เกือบทุกอำเภอในจังหวัดน่านภายใต้โครงการปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ
ในปีนี้ กฟผ. มีเป้าหมายปลูกป่าในจังหวัดน่าน ต่อเนื่องอีก17,000 ไร่ ประกอบด้วย ป่าใช้สอยหรือป่าชุมชน จำนวน 500 ไร่ (ปลูกในพื้นที่ชุมชน) และป่าต้นน้ำ หรือป่าบกจำนวน 16,500 ไร่ (ปลูกในเขตอุทยานแห่งชาติ, ป่าสงวนแห่งชาติ และโครงการพระราชดำริ) สำหรับพื้นที่ป่าต้นน้ำและป่าชุมชน กฟผ.มีความตั้งใจร่วมสร้างเมืองน่านน่าอยู่ คู่ป่าต้นน้ำร่วมกับชาวน่าน เนื่องจากจังหวัดน่าน เป็นต้นน้ำลำธารที่ไหลลงสู่เขื่อนสิริกิติ์ก่อนจะไหลลงสู่แม่น้ำเจ้าพระยา โครงการปลูกป่าของกฟผ. จะดำเนินการควบคู่ไปกับการปลุกจิตสำนึกชาวน่าน ให้รัก หวงแหน และร่วมอนุรักษ์ป่าไม้ ตามแนวทาง ปลูกที่ท้อง ปลูกที่ใจ ปลูกในป่า สู่การปลูกที่ยั่งยืน ซึ่งเป็นแนวทางที่ประสบความสำเร็จในการดูแลป่าเหนือเขื่อนต่าง ๆ ทั่วประเทศมาแล้ว
สำหรับแนวทาง ปลูกที่ท้อง กฟผ.เน้นการมีส่วนร่วมของชุมชนด้วยการจ้างงานชุมชนในพื้นที่ให้ปลูกป่าและบำรุงรักษาป่าให้ โดยใช้งบประมาณการจ้างไม่ต่ำกว่าปีละ 80 ล้านบาท ทำให้ชุมชนในท้องถิ่นมีรายได้ ส่งผลให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น จากนั้น ได้นำโครงการชีววิถีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน ผสมผสานกับกระบวนการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้วยภูมิปัญญาชาวบ้าน ให้ชาวบ้านได้ปฏิบัติเป็นต้นแบบ เพื่อให้ชุมชนที่ดูแลป่ามีกินมีใช้ พึ่งพาตัวเองได้
ส่วนการปลูกที่ใจ กฟผ. ได้รณรงค์ปลุกจิตสำนึกชาวน่าน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ด้วยการจัดทำโครงการกล้าดี ซึ่งเป็นโครงการเด็กคิด เด็กทำ เด็กพูด เพื่อรักษาป่าไม้ของจังหวัดน่าน เพื่อให้เด็กเห็นคุณค่าและพร้อมดูแล ปกป้องผืนป่าให้คงอยู่อย่างสมบูรณ์
การปลูกในป่า นอกจาก กฟผ. จะปลูกป่าตามเป้าหมายร่วมกับชุมชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยได้ประสานการขอพื้นที่อย่างถูกต้องตามกฎหมายจากกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้ว ยังมุ่งเน้นแนวทางของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ด้วยการสร้างการมีส่วนร่วมในการดูแลปกป้องผืนป่า ซึ่งหากมีการดูแลรักษาที่ดี ป่าจะยังคงอยู่ โดยไม่ต้องปลูกป่าซ้ำไปมาทุกปี
ทั้งนี้ กฟผ. ปลูกป่ารวมทั้งประเทศแล้วทั้งสิ้น 440,000 ไร่ ซึ่งสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยได้ประเมินผลสัมฤทธิ์โครงการปลูกป่ากฟผ. ว่า สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 8.45 ล้านตัน และปล่อยก๊าซออกซิเจนคืนสู่บรรยากาศได้ประมาณ 6.15 ล้านตัน
นายธาตรี กล่าวว่า นับตั้งแต่ กฟผ. ดำเนินการปลูกป่ามา 22 ปี ตั้งแต่ปี 2537 พึ่งจะได้เห็นความตื่นตัวของคนไทยในการหันมาสนใจอนุรักษ์ทรัพยากรป่าไม้อย่างกว้างขวางในขณะนี้ ต้องขอแสดงความชื่นชมและขอเป็นกำลังใจให้จังหวัดน่าน โจอี้บอย แรพเปอร์คนดัง และทีมปลูกเลย ที่ทำให้เกิดปรากฎการณ์ร่วมพลิกฟื้นคืนผืนป่าให้กับจังหวัดน่านอย่างยั่งยืนร่วมกับ กฟผ.และได้ปลุกกระแสพลังคนรุ่นใหม่หัวใจสีเขียวให้หันมาสนใจและจริงจังกับการอนุรักษ์ป่าไม้ โดยกิจกรรมของทีมงาน ปลูกเลยครั้งนี้ได้ร่วมปั้น Seed Ball ปลูกกล้าพันธุ์ไม้กว่า 50,400 ลูก ให้หยั่งรากลึกและเติบโตเป็นต้นไม้ที่สมบูรณ์ของจังหวัดน่านต่อไป