*ก.แรงงาน เผยพนักงานโตโยต้าสมัครใจลาออกแล้ว 800 คนต้องได้เงินชดเชย*

06 กรกฎาคม 2559, 09:49น.


หลังจากที่บริษัทโตโยต้า ชี้แจงสถานการณ์การเปิดโครงการสมัครใจลาออกในอุตสาหกรรมผลิตยานยนต์ ที่มีการรายงานกรณีของบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตรถยนต์ค่ายยักษ์จากประเทศญี่ปุ่น โดยใช้ชื่อโครงการว่าจากกันด้วยใจ  นายสุวิทยา  จันทวงศ์ รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน เปิดเผยว่า โครงการดังกล่าวเป็นโครงการที่เปิดให้ลูกจ้างเหมาค่าแรงซึ่งมีอยู่ในกระบวนการผลิตประมาณร้อยละ 40 ของลูกจ้างทั้งหมดราว 750,000 คน หรือราว 800 – 1,000 คน สมัครใจลาออก โดยกำหนดจำนวนแต่ละไลน์การผลิต และได้เปิดรับสมัครเข้าโครงการตั้งแต่วันที่ 4 – 13 กรกฎาคม 2559  จากข้อมูลล่าสุด 5 ก.ค.2559 มีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการประมาณ 800 คน ปัจจุบันมีบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) 3 แห่งที่ชัดเจนและประกาศอย่างเป็นทางการในเรื่องของโครงการดังกล่าว ประกอบด้วย  โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด (โรงงานสำโรง สำนักงานใหญ่,  โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด โรงงานประกอบรถยนต์โตโยต้า (นิคมเกตเวย์) อ.แปลงยาว จ.ฉะเชิงเทรา และโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด (โรงงานบ้านโพธิ์) ประกอบรถยนต์นั่ง รถยนต์บรรทุก และทำชิ้นส่วนรถยนต์ ต.ลาดขวาง อ.บ้านโพธิ์ จ.ฉะเชิงเทรา



ทั้งนี้ บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) ชี้แจงลูกจ้างเหมาค่าแรงพร้อมทั้งสัญญากับลูกจ้างเหมาค่าแรงว่าภายใน 1 ปีข้างหน้า หากการปรับระบบลงตัวและผลประกอบการดีขึ้นจะรับลูกจ้างเหมาค่าแรงกลับเข้ามาทำงานในอัตราค่าจ้างเดิมสวัสดิการเดิมและนับอายุงานต่อเนื่องด้วย อย่างไรก็ตาม กรณีดังกล่าวมีการจ่ายค่าจ้างและค่าชดเชย ค่าบอกกล่าวล่วงหน้าที่เรียกว่าเงินพิเศษให้ด้วย แทนการที่จะส่งลูกจ้างเหมาค่าแรงให้กับทางบริษัทต้นสังกัด



รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กล่าวว่า  ปัจจุบันสถานการณ์เลิกจ้างยังอยู่ในภาวะปกติ โดยภาพรวมของอุตสาหกรรมผลิตยานยนต์กำลังปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตหรือเชิงรูปแบบการผลิต รวมถึงวัตถุดิบในการผลิตยานยนต์  ระหว่างนี้บริษัทแต่ละบริษัทอยู่ระหว่างการปรับตัวเพื่อใช้เทคโนโลยีระดับสูงมาใช้ในการจะทำให้อุตสาหกรรมมีคุณภาพและต้นทุนที่เหมาะสมที่จะสามารถดำเนินการได้ 



ในส่วนของตัวเลขอุตสาหกรรมยานยนต์ มีบริษัทจำนวนมาก อาทิ บริษัทผลิตรถยนต์ขนาดใหญ่ จำนวน 17 บริษัท ภายใต้ 17 บริษัทจะมีบริษัทที่ผลิตชิ้นส่วนที่เป็นชิ้นส่วนชุดใหญ่ๆ ทั้งหมด 390 บริษัท ย่อยลงมาจะเป็นพาร์ทต่างๆ ที่เป็นการผลิตชิ้นส่วนเล็ก ๆ ประมาณ 1,250 บริษัท มีลูกจ้างที่เกี่ยวข้องประมาณ 750,000 คน โดยในวงรอบของอุตสาหกรรมยานยนต์ จะเป็นจ้างเหมาช่วง Sub Contractor) ประมาณร้อยละ 40 ของ 750,000 คน  และอุตสาหกรรมที่น่าจับตามองจะเป็นกลุ่มที่ต้องปรับเปลี่ยนเทคโนโลยี เพื่อทำให้ผลิตภัณฑ์มีคุณภาพเพิ่มมากขึ้น เป็นไปตามความต้องการของตลาด เช่น การให้ออโตเมติก การใช้ไอที อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ส่วนจังหวัดที่ต้องเฝ้าระวัง คือบริษัทที่มีอุตสาหกรรมหนาแน่น เช่น สมุทรปราการ อยุธยา ฉะเชิงเทรา เป็นต้น



สำหรับบริษัทหรือสถานประกอบการที่มีความจำเป็นต้องใช้มาตรการที่เกิดจากภาคความสมัครใจ ขอให้ดูแลเรื่องของสิทธิแรงงาน สิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้ไม่น้อยกว่าที่กฎหมายกำหนด รวมถึงสิทธิประโยชน์อื่นๆ ที่จะได้รับเพิ่มขึ้นจนสามารถเป็นเหตุจูงใจให้พนักงานมีความประสงค์ที่จะลาออกโดยเร็ว แต่ส่วนใหญ่แล้วการที่จะสมัครใจออกนั้นก็ไม่ได้เป็นเรื่องของลูกจ้างเพียงฝ่ายเดียว ต้องเป็นเรื่องของฝ่ายบริหารที่จะมีส่วนในการพิจารณาด้วย



 



 



 

ข่าวทั้งหมด

X