หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงมติคณะรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ ประกอบด้วย โครงการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนผลไม้ ที่ประสบภัยแล้ง ปี 2559 ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการให้ความช่วยเหลือเกษตรกรที่ปลูกข้าวไปแล้ว หลังจากนี้จะมีการให้ความช่วยเหลือ เกษตรกรชาวสวนผลไม้ ที่ได้รับผลกระทบ ทั้งการขาดแคลนน้ำ สูญเสียรายได้ ใน 35 จังหวัด จำนวน 95,000 ราย มูลค่าความเสียหาย 328,500 ล้านบาท โดยมีมาตรการการช่วยเหลือ 4 ด้าน ได้แก่ ขยายระยะเวลาคืนเงินกู้ ออกไปอีก 2 ปี สนับสนุนสินเชื่อเพื่อการลงทุนสร้างแหล่งน้ำสำรอง สนับสนุนสินเชื่อเพื่อการเพาะปลูกใหม่ ทดแทนของเดิม ให้เกษตรกร จำนวน 11,600 ราย โดยให้ไร่ละไม่เกิน 10,000 บาท รายละไม่เกิน 30 ไร่ รวมทั้งให้ความรู้ เรื่องการผลิตผลไม้คุณภาพดี แก่เกษตรกร รวมทั้งยังมีมติในโครงการช่วยเกษตรกร ชาวไร่อ้อย โดยได้มีการทบทวนมติเดิม เมื่อวันที่ 24 ก.พ.2558 เรื่องโครงการส่งเสริมสินเชื่อเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตอ้อยครบวงจร จากเดิมที่เกษตรกรต้องชำระคืนเงินต้นและดอกเบี้ยภายใน 3 ปี นับตั้งแต่กู้ยืม การประชุมวันนี้ได้ขยายเวลาออกไป เพื่อช่วยลดภาระต้นทุนให้กับเกษตรไร่อ้อย โดยการกู้ยืมเพื่อพัฒนาแหล่งน้ำและบริหารจัดการน้ำ ขยายเวลาจาก 3 ปี เป็น 4 ปี การกู้ยืมเพื่อซื้อเครื่องจักรกลทำการเกษตร ขยายเวลาออกไปเป็น 6 ปี โดยมีวงเงินสิ้นเชื่อ 3,000 ล้านบาทต่อปี
ด้านกระทรวงอุตสาหกรรม ได้เสนอร่างแก้ไข พรบ.โรงงาน พ.ศ. 2535 ซึ่งใช้มานาน 24 ปี จึงได้มีการทบทวนปรับปรุง 7- 8 เรื่อง เพื่อให้ พรบ. ฉบับดังกล่าวมีความทันสมัยมากขึ้น เช่นอำนาจของรัฐมนตรีในการกำหนดการเป็นโรงงาน การแก้ไขนิยามคำว่าโรงงาน โดยการเพิ่มนิยามให้โรงงาน ประกอบด้วยเครื่องจักร 50 แรงม้า มีคนงาน 50 คน ขึ้นไป การปรับปรุง วิธีการ ออกใบอนุญาต กิจการโรงงานให้มีความรวดเร็วมากยิ่งขึ้น การจัดตั้งกองทุนเพื่อการเยียวยาบุคคลภายนอกที่ได้รับผลกระทบจากโรงงาน และมีการเพิ่มบทลงโทษ ผู้ที่ทำให้เกิดกากมลพิษ ต่อสิ่งเเวดล้อมจากที่มีแค่โทษปรับ เพิ่มเป็นจำคุก 1 ปี ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชน ได้รับความคุ้มครองและการดูแลมากยิ่งขึ้น