*นายกฯ ชี้แจงการตั้งศูนย์รักษาความสงบ ให้หาวิธีแก้ปัญหาเด็กนร.ตีกันใหม่*

04 กรกฎาคม 2559, 15:17น.


กรณีที่รัฐบาลเปิดศูนย์รักษาความสงบเรียบร้อยประชามติ พลเอกประยุทธ์  จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาควาสงบแห่งชาติ (คสช.) ยืนยันว่า เพื่อความชัดเจน ไม่ได้เป็นการชี้นำ เพราะมีการพูดผ่านสื่อทุกวัน การจัดตั้งศูนย์ดังกล่าว คสช.เป็นผู้พิจารณา เฝ้าระวังสถานการณ์ในช่วงเวลาการทำประชามติ ซึ่งศูนย์ไม่มีสิทธิ์ชี้ถูกผิดหรือตัดสินผู้ที่กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ประชามติ เพราะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) และไม่ได้เป็นการเลียนแบบ นปช.ชื่อก็ไม่เหมือนกัน และถ้าหากอยากมีส่วนร่วม ก็ให้มาร่วมในศูนย์นี้ ไม่ใช่จัดตั้งแข่งกับรัฐบาล พร้อมกันนี้ยืนยันว่าจะไม่จัดเจ้าหน้าที่ทหารไปสังเกตการณ์ถึงในคูหา แต่จะยึดกฎหมายเดิมที่มีอยู่  ไม่มีพื้นที่ไหนต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ แต่จะดูแลทุกพื้นที่เพื่อไม่ให้เกิดเหตุรุนแรง หรือวุ่นวาย นอกจากนี้ในช่วงการเลือกตั้ง หากมีความวุ่นวายเกิดขึ้น ก็จะตั้งศูนย์แบบนี้เช่นกัน



ส่วนข้อเสนอที่จะนำเด็กนักเรียนตีกัน ขึ้นบัญชีดำเพื่อไปเป็นทหารเกณฑ์  ยืนยันว่าได้พิจารณาว่าไม่เห็นชอบ และให้คิดหาแนวทางอื่น เพราะอยากให้นึกถึงความตั้งใจของทหารที่สมัครใจเข้ามารับใช้ชาติ พร้อมกันนี้หากนำบุคคลเหล่านี้มาอยู่ด้วย วันหน้าหากถึงเวลาต้องรบ บุคคลเหล่านี้ก็จะทิ้งเพื่อนทหารด้วยกัน นอกจากนี้กระแสที่ต้องการให้คาดโทษคดีข่มขืน เป็นประหารชีวิตว่าต้องคำนึงถึงกฎหมายโลก และสิทธิมนุษยชน อย่าคิดกันเอง ซึ่งหลายประเทศได้ยกเลิกกฎหมายประหารชีวิตไปแล้ว โดยประเทศไทยใช้มาตรา 44 ยังไม่เกรงกลัวเลย เพราะไม่มีกฎหมายใดร้ายแรงกว่านี้  ขอทุกฝ่ายอย่าเสพติดกฎหมาย เพราะจะนำไปสู่อำนาจและผลประโยชน์ อย่างไรก็ตามนายกรัฐมนตรี ขอให้ใช้กฎหมายในทางสร้างสรรค์ ขณะเดียวกันขอสังคม และสื่อมวลชน ร่วมกันประณามผู้กระทำความผิดเหล่านี้ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ลูกศิษย์วัดพระธรรมกาย ระบุว่า จะไม่ยอมมอบตัว จนกว่าบ้านเมืองจะเป็นประชาธิปไตย โดยนายกรัฐมนตรียิ้มก่อนตอบคำถามว่า ต้องดำเนินการตามกฎหมายและเดินหน้าในทุกคดี ไม่มีการละเว้น และขอให้ประชาชนคิดเองว่ามีกฎหมายไว้เพื่ออะไร แต่อย่างน้อยจะผิดหรือถูกก็ต้องยอมรับและเข้ามาในกระบวนการ ส่วนจะมีการใช้คำสั่งตามมาตรา 44 เอาผิดคนทำผิดแล้วไม่เข้ากระบวนการหรือไม่ พลเอกประยุทธ์ กล่าวว่า มาตรา 44 มีอยู่แล้ว เพื่อให้เจ้าหน้าที่มีอำนาจจับกุม ไม่เช่นนั้นเมื่อเข้าไปอาจโดนตอบโต้กลับมา ซึ่งอาจะเกิดความผิดพลาดและเกิดการฟ้องร้อง



อย่างไรก็ตาม การดำเนินการกับทุกฝ่ายก็ให้ความเป็นธรรม ในส่วนตัวจะอยู่ตรงกลางให้ได้และเดินตามกฎหมาย ขอให้ถามคนที่ถูกกล่าวหาว่าจะดำเนินการต่อไปอย่างไร และประชาชนทั้งประเทศยอมรับได้หรือไม่ ไม่เช่นนั้นก็ปล่อยนักโทษให้หมด แล้วเมื่อเป็นประชาธิปไตยแล้วค่อยจับกุมอย่างนั้นหรือ



ผู้สื่อข่าว:ปิยะธิดา เพชรดี 

ข่าวทั้งหมด

X