เจน ซากี โฆษกหญิงกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ กล่าวว่า สหรัฐ มอบความช่วยเหลือให้แก่อิรักเพิ่มอีก 12 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ( ราว 396 ล้านบาท ) เพื่อรับมือและจัดการสถานการณ์ผู้อพยพที่หลั่งไหลลงมาจากทางตอนเหนืออย่างรวดเร็ว เนื่องจากเมืองสำคัญอย่างโมซุลและทิกริตสูญเสียการควบคุมให้กับกลุ่มรัฐอิสลามแห่งอิรักและแนวร่วม ( ไอเอสไอแอล )อย่างเบ็ดเสร็จ
ขณะที่ บริษัทล็อกฮีด มาร์ติน ผู้ผลิตเครื่องบินขับไล่และยุทธโธปกรณ์ของสหรัฐ และบริษัทต่างชาติหลายแห่งซึ่งมีสำนักงานอยู่ในภาคเหนือของอิรัก อพยพเจ้าหน้าที่ออกหมดแล้ว แต่สถานเอกอัครราชทูตและสถานกงสุลสหรัฐทุกแห่งในอิรักยังคงเปิดให้บริการตามปกติ
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอิรักถือเป็นความท้าทายครั้งสำคัญที่สุดของรัฐบาลนายกรัฐมนตรีนูรี อัล-มาลิกี ซึ่งบริหารอำนาจเต็มรูปแบบ หลังสหรัฐถอนทหารออกจนหมดเมื่อปลายปี 2554 หลังโค่นอำนาจประธานาธิบดีซัดดัม ฮุสเซ็น สำเร็จเมื่อปี 2546
ก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีบารัค โอบามา ผู้นำสหรัฐ กล่าวระหว่างหารือภายในห้องทำงานรูปไข่ของทำเนียบขาว ร่วมกับนายกรัฐมนตรีโทนี แอบบอตต์ ผู้นำออสเตรเลีย ว่า กำลังพิจารณาทุกทางเลือกที่เป็นไปได้ "ในระยะสั้น" เพื่อช่วยเหลืออิรักให้หลุดพ้นจากอิทธิพลของกลุ่มดังกล่าวที่สามารถยึดครองภาคเหนือของประเทศได้แล้ว และข่มขู่จะลงมายึดกรุงแบกแดดด้วย
แต่แหล่งข่าวในทำเนียบขาวเผย ทางเลือกของสหรัฐรวมถึงปฏิบัติการโจมตีทางอากาศด้วยอากาศยานไร้คนขับ ( โดรน ) ด้วย แต่ยืนยันจะไม่มีการส่งทหารภาคพื้นดินเด็ดขาด พร้อมกับกล่าวเพิ่มเติมว่า สหรัฐส่งโดรนแบบสอดแนมขึ้นบินลาดตระเวนเหนือน่านฟ้าทางตอนเหนือของอิรักแล้ว