การแถลงข่าวเปิดตัว สื่อเครื่องเล่นชุด "เล่นล้อมรัก" วัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันยาเสพติดตัวใหม่ให้แก่เด็กปฐมวัย ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ของสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) กระทรวงยุติธรรม นายนิยม เติมศรีสุข ผู้อำนวยการ ป.ป.ส. กรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า การป้องกันยาเสพติดของประเทศ ป.ป.ส. ได้ปรับกระบวนทัศน์งานป้องกันใหม่ โดยเน้นสร้างพื้นฐานภูมิคุ้มกันยาเสพติดตั้งแต่เด็กปฐมวัย อายุ 2-6 ปี โดยใช้กระบวนการพัฒนาทักษะทางสมอง ในการบริหารจัดการชีวิต(Executive Function : EF) ที่จะช่วยให้สามารถควบคุมอารณ์ ความคิด การตัดสินใจ ที่จะส่งผลต่อการกระทำ มาใช้เป็นวัคซีนในการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เด็กปฐมวัย โดยในกทม. มีสถานศึกษาจำนวนสถานศึกษาในระดับอนุบาล รวม 941 แห่ง จำนวนนักเรียน 153,263 คน ถ้าสามารถสร้างภูมิคุ้มกันยาเสพติดแก่เด็กปฐมวัยเหล่านี้ได้สำเร็จ ก็จะสามารถลดจำนวนคดีที่เด็กและเยาวชนเข้ามาเกี่ยวข้องกับยาเสพติด และทำให้เด็กไทยเป็นพลเมืองคุณภาพได้เกือบสองแสนคน

จากการประเมินสถานการณ์ยาเสพติดในกลุ่มเด็กและเยาวชน (13 - 19 ปี) ในพื้นที่กรุงเทพมหานครช่วง 5 ปี (2554 – 2558) พบว่ามีแนวโน้มของเด็กและเยาวชนที่มีอายุลดน้อยลงเข้าสู่วงจร ยาเสพติดเพิ่มมากขึ้น ทั้งในลักษณะของผู้เสพผู้ใช้ยาเสพติด เฉลี่ยถึงร้อยละ 39 ของผู้เสพติด และถูกจับกุมในความผิดคดียาเสพติด เฉลี่ยร้อยละ 33 ของผู้ถูกจับกุม แยกเป็นข้อหาคดีค้า (ผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย ครอบครองเพื่อจำหน่าย) ร้อยละ 8 และคดีเสพ (ครองครอง/เสพ) ร้อยละ 25 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าเด็กเหล่านี้ขาดความยั้งคิด
นางวันทนีย์ วัฒนะ รองปลัดกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กทม. ได้ร่วมกับ ป.ป.ส. ตั้งแต่ปี 2558 โดยใช้ชุดนิทาน (อ่านอุ่นรัก) จัดสรรให้โรงเรียนในสังกัด จำนวน 429 โรงเรียน จำนวน 1,900 ชุด และในปี 2559 นี้ ได้จัดสรรสื่อของเล่น (เล่นล้อมรัก) ให้โรงเรียนในสังกัด 428 โรงเรียน จำนวน 1,905 ชุด พร้อมช่วยกัน พัฒนาครูผู้สอนและครูผู้ดูแลเด็กทั้ง 4 รุ่น เพื่อให้ครูผู้สอน ไปเสริมสร้างทักษะกระบวนการคิดให้กับเด็กปฐมวัย และส่วนตัวมองว่าในอนาคตอาจจะต้องขยายเครือข่ายพัฒนาเด็กให้กว้างมากกว่านี้

สำหรับ EF หรือทักษะสมองเพื่อชีวิตที่สำเร็จ ผศ.ดร.ปนัดดา ธนเศรษฐกร ผู้ช่วยผู้อำนวยการด้านศูนย์พัฒนาเด็กปฐมวัย สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยถึงข้อมูลในเรื่องดังกล่าวว่า ทักษะสมองเพื่อชีวิตที่สำเร็จ มีองค์ประกอบ 9 ด้าน ได้แก่ จำเพื่อใช้งาน (Working Memory) ยั้งคิด ไตร่ตรอง (Inhibitory Control) ยืดหยุ่นความคิด (Shift/Cognitive Flexibility) ควบคุมอารมณ์ (Emotional Control) จดจ่อใส่ใจ (Focus/Attention) ติดตามประเมินตนเอง (Self-Monitoring) ริเริ่มลงมือทำ (Initiating) วางแผนและจัดระบบดำเนินการ (Planning & Organizing) และ มุ่งเป้าหมาย (Goal-directed Persistence)
จากผลงานวิจัยพบว่า EF จะเริ่มพัฒนาในช่วงอายุ 0 – 6 ปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดของการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของทักษะ EF เมื่อพ้นอายุ 6 ขวบ การพัฒนาทักษะจะพัฒนาต่อจนถึงช่วงวัยรุ่นและผู้ใหญ่ตอนต้น
โดยตัวเกม EF จะเป็นในลักษณะที่จะสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับเด็ก โดยเกมนี้จะต้องให้เด็กเล่นพร้อมๆ กัน และเกมนี้ไม่มีแพ้ ไม่มีชนะ แต่จะเป็นการให้เด็กช่วยเหลือกัน เพื่อให้ไปถึงเป้าหมายที่กำหนดไว้ ภายใต้กฎ กติกาต่างๆ ซึ่งเกมนี้จะช่วยสงเสริมในเรื่องอารมณ์ ความคิด การวางแผน การทำงานเป็นทีม ฝึกสมอง ควบคุมอารมณ์ การยับยั้งชั่งใจต่างๆ และมีสมาธิมากขึ้น
นางสุภาวดี หาญเมธี ประธานบริหาร กลุ่มบริษัท อาร์แอลจี (รักลูก เลิร์นนิ่ง กรุ๊ป) กล่าวเพิ่มเติมเกี่ยวกับการพัฒนาสมองด้วยเกม EF ว่า ภายหลังจากแจกเกมนี้ให้กับเด็กนักเรียนในกทม. จะต้องมีการวัดผล เปรียบเทียบ ว่าเด็กมีลักษณะนิสัยแตกต่างจากเดิมหรือไม่ แม้ว่าเกมในท้องตลาดทั่วไปจะช่วยพัฒนา EF แต่เกมชุด เล่นล้อมรัก จะช่วยพัฒนาสมองให้มีความเอื้อเฟื้อ เผื่อแผ่ ทำงานเป็นทีม โดย EF จะส่งผลต่อการพัฒนาสมองส่วนอื่นๆ เช่น IQ และ EQ
โดยงานบ้าน ก็ถือเป็นกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริม EF เช่นกัน หลายคนได้มองข้ามกิจกรรมนั้น เพราะต้องพาเด็กไปเรียนพิเศษ ติวเข้ม เตรียมสอบ แต่งานบ้าน คือ งานที่จะช่วยให้เด็กมีทักษะการช่วยเหลือผู้อื่น มีสมาธิ รู้จักแบ่งเวลา ทั้งเรียน เล่น และช่วยเหลือพ่อ แม่ ด้วย
..
ผสข.สมจิตร์ พูลสุข