ภายหลังจากผู้ตรวจการแผ่นดินได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยมาตรา 61 วรรคสอง ของพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 ขัดรัฐธรรมนูญ (ฉบับชั่วคราว) มาตรา 4 หรือไม่ คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะเริ่มพิจารณาวินิจฉัยคำร้องใน เวลา 13.30 น. ซึ่งข้อความในมาตรา 61 วรรคสอง ที่เป็นปัญหา คือข้อความที่ระบุว่า "การเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อต่างๆ ที่บิดเบือน รุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม ข่มขู่ โดยมุ่งหวังให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไปในทางใดทางหนึ่ง" ซึ่งผู้ตรวจการแผ่นดิน เห็นว่าข้อความดังกล่าวนี้อาจมีความคลุมเครือ ไม่ชัดเจน ส่งผลให้เกิดความวุ่นวายและทำให้ประชาชนไม่กล้าแสดงความเห็นตามเจตนารมณ์ของการออกเสียงประชามติ
สำหรับขั้นตอนการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญวันนี้ อันดับแรกจะเป็นการแถลงด้วยวาจาของตุลาการแต่ละคนว่ามีความเห็นเป็นอย่างไร เมื่อแถลงด้วยวาจาครบทุกคนแล้ว จะลงมติเพื่อหาเสียงข้างมาก จากนั้นก็จะเผยแพร่เป็นเอกสารข่าวให้สาธารณะชนได้รับทราบ ดังนั้นคณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจะไม่มีการออกนั่งบัลลังก์ ถือเป็นการประชุมปกติ เนื่องจากสำนวนคำร้องมีความสมบูรณ์ และเป็นคำร้องที่ไม่มีคู่กรณี ซึ่งแตกต่างจากการพิจารณาคดียุบพรรคการเมือง หรือคดีอื่นๆ
ทั้งนี้ คาดว่าศาลรัฐธรรมนูญ จะมีคำวินิจฉัยเป็น 2 แนวทาง คือ1.) ศาลรัฐธรรมนูญอาจจะวินิจฉัยว่า มาตรา61 วรรคสอง ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ เพราะมาตราดังกล่าว จำกัดสิทธิและเสรีภาพบางส่วนแต่เป็นไปเพื่อประโยชน์ในการรักษาความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และเป็นการจำกัดเสรีภาพเท่าที่จำเป็น เนื่องจากไม่ได้ห้ามโดยเด็ดขาดและไม่ได้มุ่งบังคับเฉพาะเจาะจง หรือแนวทางที่ 2.) ศาลรัฐธรรมนูญอาจจะวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญ เพราะมีความคลุมเครือเนื่องจากไม่ได้นิยามความหมายของคำให้ชัดเจนอาจจะเกิดความไม่เป็นธรรมต่อประชาชน และเป็นการจำกัดสิทธิเกินความจำเป็นและขัดกับสาระสำคัญแห่งเสรีภาพ ทั้งนี้ ไม่ว่าคำตัดสินจะออกมาในทิศทางใดก็จะมีผลเฉพาะในมาตรานี้เท่านั้นและไม่ได้ส่งผลจนทำให้พ.ร.บ. ประชามติ ถูกระงับการใช้ หรือเป็นเหตุให้ประชามติต้องเลื่อนออกไป แต่หากว่าศาลวินิจฉัยว่าขัดรัฐธรรมนูญ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.)จะไม่สามารถใช้มาตรานี้ไปดำเนินคดีกับผู้ที่มีพฤติกรรมทางการเมืองลักษณะดังกล่าว และอาจทำให้คดีที่มีการฟ้องร้องด้วยความผิดตามมาตรา 61 วรรคสอง ก่อนหน้านี้ต้องเป็นโมฆะหรือไม่ ขณะที่การรักษาความปลอดภัยก็เป็นไปตามปกติ สำนักงานศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้มีการประสานงานกับเจ้าหน้าที่ตำรวจให้มาดูแลรักษาความปลอดภัยเพิ่มเติม เพราะเป็นเพียงการพิจารณาวินิจฉัยตามข้อกฎหมาย ตามอำนาจหน้าที่ของศาลรัฐธรรมนูญตามปกติ
ผู้สื่อข่าว:ปิยะธิดา เพชรดี