การแก้ปัญหาความขัดแย้งระหว่างคนกับช้าง ในพื้นที่บริเวณป่าสงวนแห่งชาติกุยบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ในโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูสัตว์ป่าบริเวณป่าสงวนแห่งชาติกุยบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ นายทัศนะ ศรีวิลาส หัวหน้าโครงการอนุรักษ์และฟื้นฟูสัตว์ป่าบริเวณป่าสงวนแห่งชาติกุยบุรี อันเนื่องมาจากพระราชดำริ เปิดเผยว่า ก่อนการเริ่มโครงการ ช้างป่ามักจะเข้ามาหากินบนพื้นที่แปลงสับปะรดของเกษตรกร แล้วได้รับารพิษล้มตาย พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวงทรงมีพระราชดำริให้ดำเนินการตรวจสอบสภาพพื้นที่ เพื่อดำเนินการอนุรักษ์ และฟื้นฟูสัตว์ป่าบริเวณป่าสงวนแห่งชาติกุยบุรี โดยใช้รูปแบบในการฟื้นฟูตามโครงการศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทรายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดเพชรบุรี และโครงการฟื้นฟูที่ดินเสื่อมโทรมเขาชะงุ้ม อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดราชบุรี ซึ่งหลังจากมีโครงการแล้ว ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นชัดคือ คนกับช้างสามารถใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันได้โดยปราศจากความขัดแย้ง
จากเดิมที่ช้างป่ามักได้รับอันตรายจากการเข้าไปหาอาหารในพื้นที่เกษตรกรรม ปัจจุบันช้างป่า รวมทั้งสัตว์ป่าประเภทอื่น สามารถลงมาหาอาหารได้อย่างปลอดภัยโดยไม่มีใครมาทำร้าย ส่วนเกษตรกรก็เพาะปลูกพืชในพื้นที่ที่มีการจัดสรรไว้ให้ ซึ่งเกิดจากการแบ่งสัดส่วนของพื้นที่ป่า และพื้นที่ของเกษตกร ออกจากกันได้อย่างชัดเจน และยังทำให้สัตว์ป่ามีจำนวนเพิ่มขึ้น ซึ่งขณะนี้มีช้างป่า กว่า 237 ตัว นอกจากนี้ ยังสร้างชื่อเสียงให้ชุมชน พร้อมทั้งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากคนในชุมชน รวมทั้งยังมีอาชีพเสริมเป็นชมรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์สัตว์ป่ากุยบุรี ที่สร้างรายได้เสริมให้กับคนในชุมชนพื้นได้
ด้านนายสมจิตร จันทร์ดี ชาวบ้านกลุ่มอาชีพเสริมชมรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์สัตว์ป่ากุยบุรี กล่าวว่า เริ่มเข้ามาในชมรมตั้งแต่ปี 2549 โดยทำอาชีพเสริมขับรถรับส่งนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวชมโครงการ เนื่องจากพื้นที่ในโครงการจะไม่อนุญาตให้นำรถยนต์ส่วนตัวเข้ามา เพราะอาจจะทำให้สัตว์ป่าได้รับอันตรายได้ จากเดิมที่เคยทำการเกษตรเพียงอย่างเดียว แต่ตอนนี้เมื่อมีเวลาว่างก็มาขับรถรับส่งนักท่องเที่ยว โดยมีจำนวนชาวบ้าน สนใจมาทำอาชีพเสริม กว่า 50 คัน ซึ่งเดือนหนึ่งจะรับส่งนักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวในโครงการกว่า 100 เที่ยว ถือเป็นการสร้างรายได้ให้คนในพื้นที่ได้อีกทาง