นายกฯประชุมครม.พิจารณากฎหมายเศรษฐกิจ/ประชุมนโยบายอวกาศ/แสดงความเห็นร่างฯรธน.ทำได้*

28 มิถุนายน 2559, 07:23น.


วันนี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งจะมีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เพื่อเชิญชวนให้นักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะจีนเข้ามาลงทุนในภาคตะวันออกของไทย ซึ่งรัฐบาลต้องการผลักดันให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการบิน



พลอากาศเอก ประจิน  จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการ นโยบายอวกาศแห่งชาติ



นายวิษณุ  เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการประชาสัมพันธ์แห่งชาติ (กปช.)



ส่วนการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ เมื่อวานนี้ พล.อ.ประยุทธ์ นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เตือนผู้ที่กล่าวแสดงความเห็นว่าขอให้ระมัดระวัง อย่าทำผิดกฎหมาย



ขณะที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การอธิบายเรื่องร่างรัฐธรรมนูญสามารถทำได้ การที่จะบอกใครว่ารับหรือไม่รับทำได้ การอธิบายว่ามาตรานั้นดีหรือไม่ดี หรือเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยทำได้เพราะมีเสรีภาพ และส่งเสริมให้ทำ แต่อะไรที่ทำผิดตามมาตรา 61 ทำไม่ได้ จะไปชักชวนกันมาเป็นกลุ่มก้อนจะเข้าข่ายปลุกระดมถือว่าผิด หากเป็นการพูดเชียร์ ซึ่งก็คือการพูดว่าดีอย่างไร เป็นความเห็นของผู้พูดเป็นอันจบ หากพูดแค่นั้นพูดได้ จะพูดว่าดีอย่างไร พูดว่าฉบับนี้ไม่เห็นจะได้เรื่องเลย ฉบับนู้นดีกว่าฉบับนี้ หากไม่เป็นเท็จพูดได้ทั้งนั้น เพราะถ้าเป็นความเห็นจะบอกว่าเท็จพูดยาก



นายประวิช รัตนเพียร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) อธิบายเพิ่มเติมว่าการที่กลุ่มเคลื่อนไหวทางการเมืองมีการแสดงความคิดเห็นหรือจุดยืนของการออกเสียงประชามติตามสื่อโซเชียลมีเดียต่างๆ ว่า การแสดงความคิดเห็นสามารถทำได้ ไม่ผิด แต่ต้องอยู่บนข้อเท็จจริง ไม่บิดเบือน และไม่ขัดต่อ พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ไม่ว่าจะเป็นคนมีชื่อเสียงหรือไม่ก็สามารถแสดงความคิดเห็นทั้งหมดได้ ไม่ถือเป็นการชี้นำ แต่คนที่แสดงความคิดเห็น ต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่ตนพูด ถ้ามีคนมองว่าปลุกระดม หรือบิดเบือน สามารถไปแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษได้หมด อะไรจะผิดหรือไม่ผิดอยู่ที่ศาลตัดสิน ดังนั้นอะไรที่สุ่มเสี่ยงอย่าไปทำ เพราะนอกจาก พ.ร.บ.ประชามติแล้ว ยังมีกฎหมายอื่นอีกด้วย ส่วนการป้องกันการทุจริตการออกเสียงประชามติ ก็มีแอปพลิเคชันตาสับปะรด ถ้าเห็นมีความสุ่มเสี่ยงไม่โปร่งใสก็แจ้งเข้ามาได้



ในวันนี้ ยังเป็นวันสถาปนารัฐสภา ครบรอบ 84 ปี โดยมี นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) คนที่หนึ่ง เป็นประธานในพิธีฯ



ส่วนกรณี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีคำสั่งให้ข้าราชการไปปฏิบัติราชการในหน่วยงานอื่น โดยอาศัยมาตรา 44 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 ซึ่งปรากฏว่ามีรายชื่อของอัยการและรองอัยการ 3 คนนั้น ทางสำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) ตรวจสอบแล้วพร้อมรายงานให้ พลเอกไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ฐานะประธานศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) เสนอ หัวหน้า คสช. โดยไม่พบความผิดตามข้อกล่าวหา ซึ่งในวันนี้ นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุดจะแถลงรายละเอียดอีกครั้ง



ส่วนเรื่องการตรวจสอบเครื่องตรวจวัตถุระเบิดปลอม (GT200) นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี หารือกับหลายหน่วยงานด้านการตรวจสอบ ซึ่งคาดว่าความเสียหายน่าจะมากกว่า 700 ล้านบาท ซึ่งหลังจากนี้ ทางสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) จะส่งเรื่องมาให้กับ ศอตช. เพื่อพิจารณาต่อไป



ด้าน พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวว่า ดีเอสไอ ได้ตรวจสอบใน 3 ส่วน ประกอบด้วย ส่วนของเจ้าหน้าที่ที่มีส่วนร่วมทุจริต ซื้อเกินราคา เพื่อส่งให้สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) พิจารณาดำเนินการต่อไป ส่วนกรณีบริษัทผู้จัดจำหน่ายหลอกลวงให้บริษัทตัวแทนซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์ ที่ไม่มีประสิทธิภาพ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการจัดซื้อ จัดจ้าง ได้ส่งสำนวนคดีให้อัยการพิจารณาแล้วเช่นกัน



ส่วนการดำเนินคดีกับบริษัทผู้นำเข้า ดีเอสไอได้ประสานให้อัยการฝ่ายคดีต่างประเทศ ขอเอกสารจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในประเทศอังกฤษไปตั้งแต่ปลายปี 2557 แต่จนถึงปัจจุบัน ก็ยังไม่ได้รับคำตอบ คาดว่าการดำเนินการระหว่างประเทศอาจต้องใช้เวลานาน สำหรับการดำเนินคดีกับเจ้าหน้าที่รัฐนั้น สำนักคดีความมั่นคงฯ ได้สืบสวนกรณีการทุจริตการจัดซื้อเครื่องตรวจวัตถุต้องสงสัยของส่วนราชการ รวม 11 หน่วยงาน โดยมีความเห็นว่า การกระทำของ เจ้าหน้าที่รัฐบางหน่วยงานอาจเป็นการปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ตามมาตรา 157 และดีเอสไอ ส่งเรื่องไปให้ ป.ป.ช. ตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน 2554 

ข่าวทั้งหมด

X