ความคืบหน้าหลังสหราชอาณาจักรลงประชามติด้วยเสียงส่วนใหญ่ร้อยละ 52 โหวตให้แยกตัวออกจากกลุ่มสหภาพยุโรป(อียู) ขณะที่ร้อยละ 48 โหวตให้อยู่ร่วมกับอียูต่อไป ส่งผลให้นายกรัฐมนตรีเดวิด คาเมรอนของอังกฤษ ประกาศว่าจะลาออกภายในเดือนตุลาคมนี้ พร้อมทั้งระบุว่า ขึ้นอยู่กับผู้นำคนใหม่ของอังกฤษจะไปขอใช้สิทธิ์เจรจากับกลุ่มอียูเพื่อขอแยกตัวออกจากกลุ่มอย่างเป็นทางการต่อไป นายฌอง-คล้อด จุงเกอร์ ประธานคณะกรรมาธิการยุโรป กล่าวว่าอังกฤษควรจะดำเนินการโดยเร็วเพื่อเจรจาเรื่องการถอนตัวออกจากอียู ตามมาตรา 50 แห่งสนธิสัญญาลิสบอน กลุ่มอียูพร้อมที่จะเริ่มต้นการเจรจากับรัฐบาลอังกฤษโดยเร็วเกี่ยวกับรายละเอียดและเงื่อนไขของการถอนตัวออกจากกลุ่มอียู
นายจุงเกอร์ กล่าวว่า หากอังกฤษเลื่อนแผนการออกจากกลุ่มอียูให้ล่าช้าอาจจะทำให้เกิดสถานการณ์ความไม่แน่นอนยืดเยื้อต่อไป ยิ่งจะส่งผลเสียต่อตลาดหุ้นและตลาดเงินทั่วโลก จึงย้ำว่า ชาติสมาชิกที่เหลืออีก 27 ชาติจะอยู่ร่วมกันต่อไป ก่อนหน้านี้นายจุงเกอร์ได้ประชุมฉุกเฉินกับนายมาร์ติน ชูลซ์ ประธานรัฐสภายุโรป นายโดนัลด์ ทัสค์ ประธานคณะมนตรียุโรปและนายกรัฐมนตรีมาร์ก รูตต์ ของเนเธอร์แลนด์เมื่อเช้านี้ ก่อนออกแถลงการณ์ว่า พวกเขารู้สึกเสียใจแต่ก็เคารพการตัดสินใจ
ด้านนายกรัฐมนตรีอังเกลา แมร์เคิลของเยอรมนีแสดงความเสียใจต่อการตัดสินใจของอังกฤษ ระบุว่าส่งผลกระทบต่อยุโรปและขั้นตอนการรวมกลุ่มยุโรป นางแมร์เคิลจะประชุมกับนายทัสค์ ประธานาธิบดีฟรองซัวส์ ออลลองด์ของฝรั่งเศสและนายกรัฐมนตรีมัตเตโอ เรนซี ของอิตาลีในกรุงเบอร์ลินในวันจันทร์หน้า ขณะเดียวกันรัฐสภาแห่งยุโรปนัดประชุมสมัยวิสามัญในวันอังคารหน้า เพื่อประเมินสถานการณ์หลังการลงประชามติของอังกฤษ
ทีมต่างประเทศ
CR:Reuters