*BEM-กทพ.ระบุ สิงหานี้ เปิดใช้ได้ ทางพิเศษ ศรีรัช-วงแหวนรอบนอก หลังก่อสร้างเสร็จเร็วกว่ากำหนด*

22 มิถุนายน 2559, 16:57น.


การทางพิเศษแห่งประเทศไทย และบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด มหาชน หรือ BEM เตรียมเปิดใช้ทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอก ภายในกลางเดือนสิงหาคมนี้ หลังการก่อสร้างเร็วกว่ากำหนด   นายณรงค์ เขียดเดช ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.)  กล่าวว่า ขณะนี้ โครงการก่อสร้างทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอก กรุงเทพมหานคร มีความคืบหน้าไปมากกว่า ร้อยละ99 แล้ว โดยยังเหลือเพียงงานติดตั้งระบบ และการปรับพื้นผิวถนนด้านล่างทางด่วนอีกเล็กน้อย คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ภายในเดือนสิงหาคมนี้  ซึ่งเร็วกว่าแผนที่กำหนดไว้ถึง4เดือนจากเดิมที่จะเปิดในเดือนธันวาคม โดยทางพิเศษสายนี้ ประกอบด้วยด่านเก็บค่าผ่านทางจำนวน 10 ด่าน ซึ่งประกอบไปด้วยด่านขาเข้าเมือง จำนวน 7 ด่าน และขาออกนอกเมืองอีก 4 ด่าน โดยด่านพระราม 7 จะเป็นด่านที่เข้าและออกเมืองได้ ในด่านเดียวกัน ซึ่งด่านนี้ถือเป็นด่านที่ใหญ่ที่สุด ซึ่งแต่ละด่านจะมีช่อง easy pass หรือช่องเก็บเงินอัตโนมัติ จำนวน2 ช่อง เพื่อเพิ่มความสะดวกในการเดินทางของผู้ใช้เส้นทาง มีระยะทางรวมทั้งสิ้น 16.7 กม.





เริ่มต้นจาก ถนนวงแหวนรอบนอก(ถนนกาญจนาภิเษก ใกล้โรงกรองน้ำมหาสวัสดิ์) ตามแนวเขตทางรถไฟสายใต้เดิม ข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาที่บริเวณสะพานพระราม6 และสิ้นสุดโครงการที่ย่านบางซื่อ ซึ่งจะเชื่อมต่อ ทางพิเศษศรีรัช บริเวณด้านเหนือของสถานีขนส่งหมอชิต2 และลงสู่ระดับพื้นดินที่ถนนกำแพงเพชร2 โดยระบบจัดเก็บค่าผ่านทางในรูปแบบเหมาจ่ายสำหรับรถแต่ละประเภท ประกอบด้วย รถ4 ล้อ 50 บาท / รถ6-10 ล้อ 80 บาท ส่วนรถที่มากกว่า 10 ล้อขึ้นไป 115 บาท ซึ่งทางด่วนสายนี้ถือเป็นสายแรกที่เชื่อมกรุงเทพด้านตะวันตกและตะวันออกเข้าด้วยกัน



ด้านนางพเยาว์ มริตตนะพร กรรมการผู้จัดการ  BEM กล่าวว่า ทางพิเศษสายศรีรัช-วงแหวนรอบนอก เป็นการขยายความเจริญและอำนวยความสะดวกด้านการจราจร ไปสู่ฝั่งตะวันตก ซึ่งจะทำให้การจราจรมีความคล่องตัวมายิ่งขึ้น โดยมีการคาดการปริมาณจราจรหลังเปิดให้บริการปีแรกอยู่ที่ 97,000 เที่ยวต่อวัน ซึ่งการก่อสร้างโครงการมีความก้าวหน้ารวดเร็วกว่าแผนที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ได้มีการนำเอาเทคโนโลยีการก่อสร้างที่จะเกิดผลกระทบต่อปัญหาการจราจรพื้นล่างและปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุดมาใช้ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเก็บรายละเอียดงานด้านโยธา งานติดตั้งระบบควบคุมทางพิเศษ ระบบไฟฟ้า รวมทั้งอบรมบุคลากรให้มีความพร้อม ก่อนการเปิดบริการ โดยปัญหาที่พบระหว่างก่อสร้างมีเพียงปัญหาเรื่องฝนที่อาจจะทำให้การเทยางบนพื้นทางด่วนนั้นเป็นไปด้วยความล่าช้า เพราะการเทยางแต่ละครั้งต้องรอให้พื้นผิวถนนแห้งสนิทก่อน





 



 



ผสข.พนิตา สืบสมุทร 

ข่าวทั้งหมด

X