การเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน ที่เกิดจากรถโดยสารสาธารณะ ดร.ทวีศักดิ์ แตะกระโทก นักวิชาการคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร กล่าวว่า จากบทเรียนการเกิดอุบัติเหตุ พบว่าเกิดจากปัจจัยทั้งคน ถนน และรถ โดยมีสาเหตุมาจากหลายประการ เช่น ลักษณะโครงสร้างเบาะที่นั่งรถโดยสารสาธารณะ การออกแบบถนนที่่ไม่รองรับการจราจรจำนวนมาก การบริหารจัดการรถโดยสารสาธารณะของผู้ประกอบการ การออกแบบถนนที่คำนึงแต่รถโดยสารสาธารณะขั้นเดียว แต่ไม่ได้คำนึงถึงรถโดยสารสาธารณะแบบ 2 ชั้น ซึ่งโดยส่วนใหญ่พบว่า จะเกิดกับรถโดยสารสาธารณะ ที่วิ่งระหว่างจังหวัด หรือรถทัวร์ และรถตู้ ทำให้เกิดการสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สินเป็นจำนวนมาก
จากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น กรมการขนส่งทางบก กระทรวงคมนาคม มีมาตรการในการดูแลรถโดยสารสาธารณะ นายวสันต์ ยี่ตัน หัวหน้าส่วนตรวจสอบสมรรถนะรถ สำนักวิศวกรรมยานยนต์ กรมการขนส่งทางบก กล่าวว่า กรมการขนส่งทางบก ได้มีโครงการเร่งด่วน ปีงบประมาณ 2559 รวม 8 โครงการ โครงการที่กรมการขนส่งทางบกให้ความสำคัญที่สุด คือโครงการยกระดับด้านวิศวกรรมยานยนต์ โดยจะมีการออกกฎกระทรวงใหม่ เพื่อปรับลดความสูงของรถโดยสาร ซึ่งรถชั้นเดียวจาก 4.0 เมตร เป็น 3.8 เมตร รถ 2 ชั้น จาก 4.3 เมตร เป็น 4.0 เมตร โดยจะมีผลบังคับใช้ ในวันที่ 19 มีนาคม 2560 เฉพาะรถโดยสารที่จดทะเบียนใหม่ นอกจากนี้ ยังได้มีการกำหนดให้รถโดยสาร และรถบรรทุกต้องติดตั้ง GPS เพื่อแสดงตัวตนของพนักงานขับรถ และเชื่อมโยงข้อมูลให้เข้ากับกรมการขนส่งทางบก คาดว่า ประชาชนจะได้รับการบริการที่มีคุณภาพและปลอดภัยมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ผู้ประกอบการ ก็จะสามารถติดตามควบคุม การให้บริการของพนักงานขับรถได้ โดยรถที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขการบังคับใช้ GPS ได้แก่รถที่ใช้ในการขนส่งผู้โดยสารประกอบด้วยรถโดยสารชั้นเดียว รถตู้โดยสารและรถโดยสาร 2 ชั้น ซึ่งได้มีการรดำเนินการเป็นที่เรียบร้อยแล้ว นอกจากนี้ ยังได้กำหนดมาตรฐานวัสดุสำหรับติดตั้งภายในรถโดยสาร เนื่องจากเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้น อาจจะทำให้เกิดไฟไหม้รถ กรมการขนส่งทางบก จึงได้กำหนดคุณสมบัติของวัสดุที่ใช้ตกแต่งภายในบริเวณรถโดยสารให้มีมาตรฐานความปลอดภัย
ด้าน ดร.ศราวุธ เลิศพลังสันติ นักวิจัยห้องปฏิบัติการยานยนต์ ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ กล่าวว่า การจะยกระดับมาตรฐานรถโดยสารสาธารณะในประเทศไทยได้นั้น ต้องมีการควบคุมทั้งคน และรถ ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน มาตรการที่ต้องบังคับใช้ ในคนคือการบังคับติดตั้งอุปกรณ์ GPS และบังคับให้ผู้โดยสารคาดเข็มขัดนิรภัย ส่วนมาตรการการบังคับใช้กับรถ คือการเพิ่มความแข็งแรงของเก้าอี้และจุดจับยึด เพิ่มความเข้มงวดในเรื่องการทดสอบอุปกรณ์ บังคับให้มีการติดตั้งค้อนทุบกระจกนิรภัย ถังดับเพลิง อย่างน้อย 2 ตำแหน่ง และบังคับให้มีการทดสอบระบบเบรค แบบระบบป้องกันการเบรคจนล้อล็อกตาย หรือ ABS ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาการเบรครถแล้วเกิดการลื่นไถล ทำให้ผู้ขับสามารถควบคุมทิศทางของรถได้ในขณะที่เหยียบเบรคกระทันหัน
ผู้สื่อข่าว:เกตุกนก ครองคุ้ม