*รองเลขาอย. ตรวจสอบหมามุ่ยอินเดียสกัดเป็นอาหารเสริม อันตราย ไม่มีเลขที่อย.*

21 มิถุนายน 2559, 12:05น.


หลังมีผู้เสียชีวิต จากการรับประทานผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ระบุว่า มีสารสกัดของหมามุ่ยอินเดีย นพ. ไพศาล ดั่นคุ้ม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เปิดเผยว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดตรังได้ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง พบว่าทางมารดาและผู้เสียชีวิต ได้สมัครเป็นสมาชิกขายตรง และได้รับผลิตภัณฑ์ชื่อ Reset มารับประทาน หลังจากนั้นมีอาการปากบวม ตาบวม ปากเจ่อ มีผื่นขึ้น เจ้าหน้าที่พบแผงผลิตภัณฑ์ ระบุข้อความ Mubean reset body balance โดยแผงยาดังกล่าวไม่อยู่ในกล่องบรรจุ ไม่มีเลขสารบบอาหาร และติดต่อไปทางยังเบอร์โทรศัพท์ตัวแทนที่มาเปิดศูนย์จำหน่ายที่จังหวัดตรัง ไม่สามารถติดต่อได้



จากการตรวจสอบแผ่นพับที่ได้มาจากทางครอบครัวผู้เสียชีวิต พบข้อความโฆษณาว่าผลิตภัณฑ์ชื่อ Reset เป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่ได้รับเลขสารบบอาหารที่ 13-1-02954-1-0546 จำหน่ายโดย The Best International Co.Ltd และกล่าวอ้างสรรพคุณ กระตุ้นฮอร์โมน ลดไขมันในร่างกาย ขับสารพิษออกจากตับ ช่วยเพิ่มสมรรถภาพทางเพศ เป็นต้น และมีการกล่าวอ้างส่วนประกอบสำคัญของหมามุ่ยอินเดีย ได้แก่ L-dopa ซึ่งเป็นสารออกฤทธิ์ในสำคัญในหมามุ่ย โดยรองเลขาธิการ อย. ยืนยันว่า อย. ไม่เคยอนุญาตให้ใส่สารสกัดหมามุ่ยในผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เนื่องจากข้อมูลทางวิชาการมีสารสำคัญ เรียกว่า L-dopa ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของการสื่อประสาท Dopamine มีผลต่อการควบคุมการเคลื่อนไหว ทำให้ความดันโลหิตต่ำ และผู้ที่แพ้ถั่ว ไม่ควรบริโภคอาหารเสริมที่มีสารสกัดจากหมามุ่ย เพราะถั่วกับหมามุ่ยเป็นพืชชนิดเดียวกัน



นอกจากนี้เจ้าหน้าที่อย. และตำรวจกองบังคับการปราบปรามคุ้มครองผู้บริโภค (บก.ปคบ.) นำหมายค้นเข้าตรวจสอบสถานที่จำหน่ายอาหารเสริม ของบริษัทดังกล่าวในย่านบึงกุ่ม กรุงเทพ พบกล่องผลิตภัณฑ์สีน้ำเงิน 1 กล่อง ฉลากและแผงมีลักษณะเหมือนแผงผลิตภัณฑ์ที่ผู้เสียชีวิตรับประทาน แต่ไม่มีเลขสารบบอาหาร เจ้าหน้าที่จึงนำส่งให้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ตรวจวิเคราะห์หายา และสารสกัดหมามุ่ย ต่อไป นอกจากนี้ยังมีการตรวจสถานที่ตามข้อมูลเลขสารบบอาหารที่ปรากฎในแผ่นพับโฆษณา ปรากฎว่าไม่พบผลิตภัณฑ์หรือโฆษณาใดๆ และได้ข้อมูลว่า หลังจากได้รับเลขสารบบอาหารแล้ว ยังไม่มีการผลิตและจำหน่าย ดังนั้นจึงอยากฝากประชาชนด้วยว่า ทุกคนสามารถตรวจสอบเลขที่สารบบอาหารได้ที่เว็บไซด์ อย. www.fda.moph.go.th



รองเลขาธิการ อย. กล่าวเตือนประชาชนด้วยว่า ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร คือ อาหาร ไม่ใช่ยาจึงไม่สามารถบรรเทา บำบัด หรืออว่ารักษาโรค ตามที่โฆษณาอวดอ้างได้ หากผู้บริโภค ได้รับอันตรายจากผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หรือพบการโฆษณาผลิตภัณฑ์เสริมอาหารที่อวดอ้างสรรพคุณเกินจริงทางสื่อต่างๆ โดยเฉพาะทางโซเชียลมีเดียสามารถแจ้งร้องเรียนได้ที่สายด่วน อย. 1556

ข่าวทั้งหมด

X