นายจอร์จ ออสบอร์น รัฐมนตรีคลังอังกฤษ กล่าวว่า รัฐบาลจำเป็นต้องปรับลดงบประมาณสาธารณะ และนำมาตรการภาษีมาใช้ ในแผนการจัดทำงบประมาณเร่งด่วน เพื่อแก้ปัญหาการขาดดุลงบประมาณ ราว 30,000 ล้านปอนด์ ถ้าหากพลเมืองอังกฤษลงมติออกจากกลุ่มสหภาพยุโรป(อียู) ระบุว่า การออกจากกลุ่มสหภาพยุโรป (อียู) จะส่งผลเสียหายร้ายแรงต่อเศรษฐกิจอังกฤษ มาตรการนี้อาจจะรวมถึงการขึ้นภาษีเงินได้และมรดกและตัดลดงบประมาณหน่วยงานบริการสาธารณสุขแห่งชาติ
แต่สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส. ) 57 คนจากพรรคอนุรักษ์นิยม ระบุว่า จุดยืนของนายออสบอร์น ในเรื่องนี้ไม่เหมาะสม โดยเฉพาะแผนการลดงบประมาณหน่วยงานบริการสาธารณสุข ตำรวจและงบประมาณของโรงเรียน ด้านกลุ่มที่รณรงค์ให้อังกฤษ ออกจากกลุ่มอียู วิจารณ์กลุ่มที่รณรงค์ให้อังกฤษอยู่ในกลุ่มอียูต่อไปว่าวิตกเกินเหตุว่า อนาคตของประเทศจะแย่กว่าเดิม
ส่วนความคืบหน้าอื่นๆ กลุ่มที่รณรงค์ให้ออกจากกลุ่มอียูได้กำหนดโรดแม็ปเกี่ยวกับสิ่งที่รัฐบาลต้องดำเนินการโหวตหลังการลงคะแนนในการจัดทำประชามติครั้งนี้ ด้านองค์กรธุรกิจซีบีไอ ระบุว่า กลุ่มธุรกิจจากหลายประเทศรวมถึงนอร์เวย์ สวิตเซอร์แลนด์และแคนาดา ได้พูดถึงผลกระทบร้ายแรงว่า ภาคเอกชนจะได้รับผลกระทบอย่างหนัก เนื่องจาก จำเป็นต้องปรับโครงสร้างธุรกิจให้สอดคล้องกับกฏระเบียบใหม่ของรัฐบาลอังกฤษ
ด้านบริษัทโรลส์-รอยซ์ ผู้ผลิตรถยนต์ของอังกฤษ ส่งจดหมายเวียนถีงพนักงานว่าบริษัทฯสนับสนุนให้อังกฤษอยู่ร่วมกับกลุ่มอียูต่อไป ด้านนายสเตเฟน ดอร์เรลล์ อดีตเลขานุการกระทรวงสาธารณสุขกล่าวว่าการโหวตให้อังกฤษออกจากกลุ่มอียูจะกระทบต่อการเงินของหน่วยงานบริการสาธารณสุข สำหรับอังกฤษจะจัดทำประชามติในวันที่ 23 มิถุนายนนี้ว่าจะอยู่ร่วมกับกลุ่มอียูต่อไปหรือไม่
ทีมต่างประเทศ
CR:AFP