ผลการศึกษาโครงการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา โดยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่ปรึกษาและสำรวจออกแบบโครงการ ผศ.ดร.อันธิกา สวัสดิ์ศรี รองผู้จัดการและโฆษกโครงการ กล่าวว่า จากการลงพื้น 33 ชุมชน จำนวน 2 รอบ เพื่อเก็บข้อมูลในแต่ละชุมชนพบว่า ยังมีบางชุมชนที่มีปัญหาความคิดเห็นแตกต่างกัน แต่จะพยายามให้ได้ข้อสรุปโดยเร็วที่สุด และ ทำให้เกิดผลกระทบในด้านลบน้อยที่สุด ได้เปิดโอกาสให้แต่ละชุมชนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและออกแบบพัฒนาภูมิทัศน์ร่วมกันคิด ร่วมตัดสินใจ คาดว่า ภายในเดือนสิงหาคมน่าจะเห็นรูปแบบที่ชัดเจนขึ้น โดยเน้นความจำเป็นในการสร้างทางเชื่อม หรือทางเท้า ทางปั่นจักรยาน หรือทางเลียบแม่น้ำ ที่เชื่อมต่อกัน
ส่วนงานด้านการสำรวจและด้านวิศวกรรม รศ.สุพจน์ ศรีนิล ฝ่ายวิศวกรรมโครงการ กล่าวว่า มีแนวคิดจะเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ส่วนการขุดเจาะเบื้องต้นจะใช้ระบบเสาเข็มแบบ spun pile โดยจะไม่ทำโครงสร้างขนาดใหญ่ เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบและรบกวนชุมชน ส่วนการวางเสาตอหม้อ จะไม่วางถี่เกินไปและพยายามให้ใกล้ตลิ่งมากที่สุด โดยมีความกว้างอยู่ที่ 80 ซม. ส่วนทางเดิน จะมีความกว้างอยู่ที่ 5 - 7 เมตร ส่วนรูปแบบโครงสร้างของทางเท้าคาดว่าจะเสร็จต้นเดือนก.ค. ให้สอดคล้องกับร่างของสถาปัตยกรรม
ผศ.กฤษณ์ เจ็ดวรรณะ ผู้ช่วยผู้จัดการโครงการ กล่าวว่า ขณะนี้การสำรวจได้เสร็จสิ้นแล้ว เหลือเพียงการสำรวจชั้นดิน ที่บางพื้นที่ไม่สามารถ เจาะสำรวจได้ ยืนยันว่า โครงการนี้จะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบกับพื้นที่ในชุมชน เมื่อได้รูปแบบโครงสร้างที่ชัดเจนจะมีการร่างแบบจำลอง และประเมินผลอีกครั้ง สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบังและมหาวิทยาลัยขอนแก่น ยืนยันที่จะมีการพัฒนาพื้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาให้สอดคล้อง กับอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ในแต่ละชุมชนรวมทั้งให้คนในชุมชนมีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็น
ส่วนความคืบหน้าศูนย์ศึกษามรดกเจ้าพระยา ดร.กมล เกียรติเรืองกมลา รองผู้จัดการโครงการ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ชุมชนพบว่า ในแต่ละชุมชนต่างมีเอกลักษณ์ที่หลากหลาย ถือเป็นมรดกที่มีคุณค่าที่จะอนุรักษ์ไว้ให้คนรุ่นหลัง ในอนาคตยังมีเป้าหมายที่จะทำให้แม่น้ำเจ้าพระยากลายเป็นมรดกโลก จึงจำเป็นต้องจัดตั้งศูนย์ศึกษามรดกเจ้าพระยา เพื่อให้เป็นไปตามเงื่อนไขขององค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก ทั้งนี้ ด้านสถาปัตยกรรม ได้ยึดแนวทางทางโบราณคดีของแต่ละชุมชนโดยค้นคว้าจากข้อมูลเก่าและนำอัตลักษณ์ของชุมชนมาพัฒนาเป็นรูปแบบที่สะท้อนความเป็นชุมชนนั้นๆ
ผู้สื่อข่าว:เกตุกนก ครองคุ้ม