ปัญหาข้อสอบโอเน็ต ที่ มีการเฉลยข้อสอบและพบว่า ผิดพลาดในวันนี้ทางสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ หรือ สทศ. โดย รศ.ดร.สัมพันธ์ พันธุ์พฤกษ์ ผู้อำนวยการสถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ ร่วมกับ ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ กรรมการบริหารฯ สทศ. ได้แถลงข่าวเพื่อชี้แจงและเสนอแนวทางการแก้ไขในปัญหาที่เกิดขึ้น ศ.ดร.สุรพล กล่าวว่า การเฉลยข้อสอบโอเน็ตในครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกและเป็นครั้งสำคัญ ซึ่งเมื่อมีการเฉลยออกมาก็เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ถึงความถูกผิด ทั้งนี้ทางกรรมการฝ่ายบริหารฯ ของ สทศ.ไม่เห็นด้วยกับนโยบายการเฉลยข้อสอบ เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อระบบการทำข้อสอบในปีต่อๆ ไป ที่จะไม่เหลือข้อสอบเพื่อนำมาใช้ และต้องออกข้อสอบใหม่อยู่เรื่อยๆ ซึ่งอาจมีความยากมากยิ่งขึ้น แต่ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ก็ยืนยันที่จะจัดให้มีการเฉลยข้อสอบ เพื่อให้เกิดพัฒนาการการเรียนรู้ ทั้งนี้เมื่อมีการประชุมแล้ว ทางคณะกรรมการมีความเห็นว่าเป็นแนวทางที่ดี เพื่อจะได้ตรวจสอบความถูกต้องอย่างชัดเจน ทั้งนี้ในรายวิชาสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม มีข้อสอบทั้งสิ้น 90 ข้อ ยืนยันว่ามีข้อสอบเพียง 1 ข้อเท่านั้นที่เกิดความผิดพลาด และได้ทำการแก้ไขคะแนนให้กับนักเรียนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ส่วนที่มีการออกมาว่า มีความผิดพลาดเกิดขึ้นอีก 5 ข้อนั้น สทศ. จะขอชี้แจ้งถึงขั้นตอนในการออกข้อสอบ โดยมี 9 ขั้นตอน เริ่มจากการให้ สำนักงาน คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. ส่งครูที่มีคุณวุฒิตรงตามสาขาวิชา และมีประสบการณ์สอนไม่ต่ำกว่า 5 ปี ออกข้อสอบ จำนวน 176 ข้อเพื่อให้ สทศ.พิจารณาคัดเลือก หลังจากนั้นได้คัดเลือกครู ภูมิภาคละ 15 คน 4 ภูมิภาค โดยใช้หลักเกณฑ์เรื่องประสบการณ์และ จบตรงสาขา และไม่มีบุตรหลานเรียนในระดับชั้นเดียวกับที่ออกข้อสอบ และไม่เป็นครูสอนโรงเรียนกวดวิชา เมื่อได้ครูจำนวน 59 คน เพื่อออกข้อสอบตามภูมิภาค ได้ข้อสอบจำนวน 800 ข้อ โดยสทศ.ได้เชิญ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยเป็นผู้กลั่นกรองตรวจสอบข้อสอบ ภูมิภาคละ 8 คน และแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญ 3 คน และนักวิชาการ สทศ. เพื่อคัดเลือกข้อสอบ จาก 800 ข้อ ให้เหลือ 180 ข้อ โดยตรงตามหลักสูตรมากที่สุด
หลังจากนั้น ได้ตั้งคณะทำงานสร้าง พัฒนาและกลั่นกรองข้อสอบ อีก 5คน เป็นผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาระการเรียนรู้วิชาสังคมศึกษาฯ โดยเป็นอาจารย์จากมหาวิทยาลัยเพื่อคัดเลือกข้อสอบ จริง 90 ข้อ เมื่อได้ข้อสอบจริงแล้ว สทศ. จึงได้มีการแต่งตั้งคณะทำงานตรวจรับต้นฉบับ จำนวน 3 คน เพื่อตรวจพิสูจน์อักษร หลังจากนั้นจึงมีการจัดพิมพ์ข้อสอบและดำเนินการจัดสอบทั่วประเทศ โดยขั้นตอนกระบวนการทั้งหมด ทาง สทศ . แน่ใจว่า มีการออกข้อสอบโดยผ่านการกลั่นกรองมาแล้ว และทำเช่นนี้ในทุกวิชา โดยยืนยันว่าข้อสอบวิชาสังคมฯ ขึ้นอยู่กับการตีความหมายของผู้ทำข้อสอบ โดยไม่มีอะไรที่ตายตัว กรณีข้อสอบทั้ง 5 ข้อ ยืนยันว่าคำเฉลยถูกต้องแล้ว โดยยินดีจะชี้แจงและปรึกษากับผู้ที่มีข้อสงสัยในข้อสอบ โดยหวังว่าขั้นตอนเหล่านี้ จะทำให้มั่นใจได้ว่า การออกข้อสอบมีการกลั่นกรองมาอย่างดีแล้ว ทั้งนี้ทาง สทศ. อยากจะเชิญให้ผู้เกี่ยวข้อง มาร่วมโต้แย้ง และวิพากษ์วิจารณ์ ในข้อสอบที่มีความผิดพลาด เพื่อนำไปสู่การพัฒนาให้ดีขึ้น
ศ.ดร.สุรพล ยืนยัน ว่ามีกระบวนการออกข้อสอบ ที่ผ่านกระบวนการกลั่นกรองแล้วแต่ละภูมิภาค ก่อนจะนำให้ผู้เชี่ยวชาญ คณาจารย์ผู้ทรงคุณวุฒิที่มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาเอก จากหลากหลายสถาบัน ตรวจสอบความถูกต้องของข้อสอบ เฉลยคำตอบ และชี้แจง โดยยอมรับว่ามีข้อผิดพลาด 1 ข้อเท่านั้น ซึ่งเกิดมาจากความผิดพลาดตั้งแต่ขั้นตอนแรก ส่วนอีก 5 ข้อ ที่มีการวิพากษ์วิจารณ์ว่า ทาง สทศ.ได้เฉลยผิดยืนยันว่า คำตอบที่ออกมาถูกต้องแล้ว เนื่องจากข้อสอบในวิชาสังคมศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรมเป็นเชิงวิเคราะห์ ไม่ใช่การท่องจำ นักเรียนจึงต้องอ่านและทำความเข้าใจ ซึ่งหลังจากนี้จะพยายามใช้ข้อความในการออกข้อสอบให้รัดกุม และเกิดความกำกวมน้อยที่สุด โดยครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรก ที่มีการเฉลยข้อสอบโอเน็ต จนทำให้เกิดการวิจารณ์ ซึ่งพร้อมน้อมรับ และยืนยันว่าในปีต่อๆไป การออกข้อสอบก็จะยังคงเป็นการออกในเชิงคิดวิเคราะห์เช่นเดิม ส่วนกรณีการตรวจข้อสอบเฉลยคำตอบและคำชี้แจงในวิชาภาษาอังกฤษระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ขนาดนี้สทศ. อยู่ระหว่างการตรวจสอบความถูกต้อง ของข้อสอบ ซึ่งจะมีการแจ้งให้ทราบในภายหลัง
ผสข. เกตุกนก ครองคุ้ม