กรมชลประทาน ตรวจสอบความปลอดภัยเขื่อนอย่างต่อเนื่อง พร้อมรับมือภัยธรรมชาติ

14 มิถุนายน 2559, 12:57น.


กรมชลประทานจัดงานวิชาการ "เรื่องวิกฤติน้ำ และความปลอดภัยเขื่อน"  เพื่อสร้างความมั่นใจในความมั่นคง แข็งแรงของเขื่อนกรมชลประทาน และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย ที่จะรับมือกับสภาพภูมิอากาศที่ทำให้เกิดภัยทางธรรมชาติที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น


นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ทางกรมชลประทานมีการลงพื้นที่ตรวจสอบอ่างเก็บน้ำหรือเขื่อนเก็บน้ำ ทุกแห่งที่อยู่ในความรับผิดชอบของกรมชลประทาน จำนวนมากกว่า 400 แห่ง โดยเฉพาะเขื่อนที่มีความสูงมากกว่า 15 เมตร ซึ่งถือว่า เป็นเขื่อนที่จะต้องดูแลเป็นกรณีพิเศษ เพราะหากเกิดปัญหาแล้วการแก้ไขจะเป็นไปด้วยความลำบาก ทั้งนี้ จะเห็นว่าในวิกฤตการณ์ที่ผ่านมา กรมชลประทาน ประสบปัญหาใน 2 เรื่องคือเรื่องน้ำท่วมและน้ำแล้ง ซึ่งจากปัญหาน้ำท่วม ก็จะเป็นการบริหารจัดการเขื่อน ถ้าหากมีน้ำมาก จะต้องวิเคราะห์ว่าตัวเขื่อนจะรับได้มากน้อยขนาดไหน ซึ่งโดยปกติแล้ว หากเขื่อนรับน้ำที่เป็นน้ำหลากมากเกินไป ก็จะมีช่องระบายน้ำที่เป็นกรณีพิเศษ ช่องระบายน้ำล้นยังทำหน้าที่ได้ดีหรือไม่และ มีการเก็บกักมากแค่ไหน นอกจากนี้ยังต้องดูเรื่องน้ำซึมออกนอกตัวเขื่อน ซึ่งขณะนี้ มีการตั้งเครื่องวัดอัตราความซึมของน้ำผ่านตัวเขื่อน 


นอกจากนี้ ยังมีการตรวจสอบทางกายภาพ คือดูด้วยสายตา ซึ่งใน 2-3 ปีที่ผ่านมามีปริมาณน้ำน้อย ซึ่งหากน้ำมีปริมาณต่ำมาก ๆ ก็จะเกิดผลด้านความมั่นคงของตัวเขื่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อน้ำอยู่ในระดับต่ำกว่า dead storage จะมีผลต่อแรงยึดเหนี่ยวของตัวเขื่อน โดยเฉพาะหากเป็นเขื่อนดิน ดินก็อาจจะแห้งไปบ้างเนื่องจากความร้อน โดยรอยผิวหน้าดิน ที่เป็นรอยบดอัด ซึ่งหากพบว่าเกิดขึ้น ทางกรมชลประทานก็จะสำรวจว่ามีผลต่อไส้ในของตัวเขื่อนหรือไม่ ซึ่งกรมชลประทานยังใช้นวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้ในการตรวจสอบด้วย เช่นการบินสำรวจ ด้วยการใช้โดรนบินถ่ายภาพ นอกจากนี้ ยังมีการตรวจสอบ ความยืดหยุ่นของดิน พร้อมทั้งการตรวจสอบแบบชนิดคลื่นเฉือนและเรดาห์ ประกอบกันด้วย


ส่วนในเรื่องแผ่นดินไหว มีการเก็บสถิติข้อมูลที่หลากหลาย ซึ่งในการออกแบบเขื่อนโดยเฉพาะเขื่อนใหม่ มีการออกแบบที่ให้ทนต่อแผ่นดินไหวได้ มากกว่า 0.15 ตามแรงโน้มถ่วงของโลก สวนเขื่อนปัจจุบันที่มีอยู่แล้วไม่ว่าจะเป็นเขื่อนทางภาคเหนือ เส้นเขื่อนกิ่วคอหมา หรือเขื่อนกิ่วลม ที่อาจจะอยู่ในพื้นที่เสี่ยงแผ่นดินไหว มีการติดตั้งเครื่องมือวัดแผ่นดินไหวและเครื่องมือตรวจสอบและเครื่องมือวัดความปลอดภัยในตัวเขื่อน พฤติกรรมของเขื่อน เช่นเดียวกับเขื่อนภาคตะวันตกเช่นเขื่อนกระเสียว หรือเขื่อนแก่งกระจาน ที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง 


ขณะเดียวกันก็มีการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับน้ำหรือพายุที่จะเข้ามา เพื่อที่จะสามารถบริหารจัดการน้ำในเขื่อนให้ใช้งานได้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยขณะนี้กำลังเข้าสู่ฤดูฝน โดยเฉพาะในช่วงเดือนกรกฎาคม จนถึงกันยายน  กรมชลประทานได้มีการเฝ้าระวังติดตามโดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการศึกษา เรื่องปัญหาภัยพิบัติ จุดที่จะต้องเฝ้าระวังจุดที่จะต้องไปรวมพล และบางแห่งก็มีการซักซ้อมในเรื่อง การเตรียมรับมือภัยพิบัติไว้แล้ว  หากประชาชน พบเห็นว่าเขื่อนมีรอยร้าว ก็สามารถแจ้งให้กรมชลประทานไปตรวจสอบเพื่อความมั่นใจได้แต่ขณะนี้จากการตรวจสอบ ทางกรมชลประทานก็ไม่พบมีเขื่อนใดที่มีสิ่งผิดปกติ


 


..


 


ผสข.ปิยะธิดา เพชรดรี
ข่าวทั้งหมด

X