ในวันนี้มีการประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งมีการเสนอให้ตั้งคณะกรรมการ ขับเคลื่อนการลงทุนในระบบน้ำ โครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภค และดูแลป่าไม้
แต่ก่อนที่การประชุมจะเริ่มขึ้น พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี นำคณะเข้าพบนายกรัฐมนตรีเพื่อจัดแสดงนิทรรศการเพื่อรณรงค์กิจกรรมส่งเสริมการเรียนรู้นอกห้องเรียน ภายใต้โครงการ "ติดปีกความรู้ สู่นอกห้องเรียน" และ ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นำคณะเข้าพบนายกรัฐมนตรี เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการภาคภูมิแผ่นดินไทย
จากนั้น พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการปรับปรุง (ร่าง) นโยบายและยุทธศาสตร์การวิจัยของชาติ ฉบับที่ 9 ที่สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ เขตจตุจักร
ส่วนการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร คณะกรรมการการเลือกตั้งเปิดเผยว่า ในการรณรงค์ประชามติครั้งนี้ หากใครก็ตามที่พูดด้วยเหตุและผล ไม่บิดเบือน ไม่เป็นเท็จ ไม่มีปัญหา และยืนยันว่ากกต.ไม่ได้ปิดกั้นการแสดงความเห็น ส่วนกรณีที่ผู้ตรวจการแผ่นดินยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ มาตรา 61 วรรคสอง อยู่ในขั้นตอนที่ศาลจะเชิญองค์กรที่เกี่ยวข้องไปให้คำชี้แจง ซึ่ง กกต. จะชี้ให้เห็นว่ามาตรา 61 วรรคสองไม่ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และต้องคงกฎหมายไว้ เพราะการใช้สิทธิเสรีภาพต้องอยู่ในขอบเขต หากไม่มีการปรามกันภายใน 2 เดือนก่อนมีการออกเสียงประชามติ อาจจะมีความวุ่นวาย และไม่ว่าศาลรัฐธรรมนูญจะพิจารณาว่าขัดหรือไม่ขัด ก็ไม่กระทบต่อวันออกเสียงประชามติ แต่หากศาลพิจารณาว่าไม่ขัดก็ดำเนินการต่อไป ถ้าหากขัดต่อรัฐธรรมนูญ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องเสนอการแก้ไข เป็น พ.ร.บ.ประชามติ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติมโดย สนช.
นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การทำประชามติ จะมี 4 ทางเลือกคือ หากร่างรัฐธรรมนูญผ่านและคำถามพ่วงไม่ผ่านก็สามารถประกาศใช้เลย, หรือหากร่างรัฐธรรมนูญผ่านและคำถามพ่วงผ่าน จะต้องแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญตามคำถามพ่วง, หรือหากไม่ผ่านทั้งร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง ก็ต้องร่างใหม่อยู่แล้ว แต่กระบวนการจะเร็วขึ้น, และสุดท้ายคือหากรัฐธรรมนูญไม่ผ่านแล้วคำถามพ่วงผ่าน จะต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ให้สอดคล้องกับผลประชามติของคำถามพ่วงที่ผ่าน ซึ่งหากมีการร่างใหม่อีกครั้งก็คงประกาศใช้เลย
นายอุดม รัฐอมฤต โฆษกกรธ. กล่าวว่าตามที่มีความพยายามบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญ เพื่อให้สร้างความกังวลและกลัวการลงประชามติถือเป็นความผิดตามพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ
ในวันนี้ มีการประชุมคณะกรรมการการเลือกตั้ง ที่ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ เขตหลักสี่ กรุงเทพฯ จากนั้นช่วงบ่าย นายศุภชัย สมเจริญ ประธานกรรมการการเลือกตั้ง เป็นประธานในการเปิดตัวเพลงรณรงค์การออกเสียงประชามติ "วัยรุ่นก้าวไป ... ประชามติร่วมใจ ประชาธิปไตยมั่นคง"
การประชุมสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) เมื่อวานนี้ มีการพิจารณารายงานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม เรื่องการวางแนวทางมาตรฐานการแต่งตั้งโยกย้ายข้าราชการตำรวจ ซึ่งมีการรายงานผลการศึกษา ที่เสนอให้มีการแต่งตั้งตำรวจระดับสารวัตรถึงระดับผู้บัญชาการ (สว.-ผบช.) เรียงลำดับตามบัญชีอาวุโส ประกอบกับความรู้ความสามารถ และความประพฤติ ไม่น้อยกว่าร้อยละ 70 ของตำแหน่งที่ว่าง ส่วนอีกร้อยละ 30 หากมีเหตุผลความจำเป็นให้พิจารณาข้ามลำดับอาวุโสได้ แต่ต้องได้รับความเห็นชอบจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ (ก.ตร.) ส่วนการแต่งตั้งระดับผู้ช่วย ผบ.ตร.ขึ้นไป ให้พิจารณาเรียงตามลำดับอาวุโสในบัญชี รวมถึงให้มีความพยายามผลักดันให้การปฏิรูปตำรวจสำเร็จภายใน 1 ปีครึ่ง จากนั้นที่ประชุมลงมติให้ความเห็นชอบรายงานด้วยคะแนน 138 ต่อ 4 งดออกเสียง 24 เพื่อส่งต่อให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาดำเนินการต่อไป
ส่วนการประชุมปฏิรูปตำรวจ มี พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผบ.ตร. เป็นประธานก็ส่งแผนการปฏิรูปตำรวจทั้งระยะสั้นและระยะยาวเป็นแผน 20 ปี เสนอนายกรัฐมนตรีเช่นกัน
เมื่อวานนี้ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงความคืบหน้าการแก้ปัญหาตามมาตรการในการป้องกัน ยับยั้ง ขจัดการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม หรือ ไอยูยู ภายหลัง สหภาพยุโรป (อียู) ให้เวลาแก้ไขปัญหาให้แล้วเสร็จว่า เจ้าหน้าที่ อียูได้แนะนำมาแล้ว และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์รับเรื่องไปดำเนินการ เพื่อแก้ไขเพิ่มเติมตามคำแนะนำ โดยสหภาพยุโรปให้เวลารัฐบาลไทยถึงสิ้นปีนี้ในการแก้ปัญหาเรื่องนี้ โดยอียูชี้ว่าไทยแก้ปัญหามาถูกทางแล้ว แต่ปัญหายังไม่หมด และยืนยันความทุ่มเทในการแก้ไขปัญหาต่อไป
นายอารักษ์ พรหมณี อธิบดีกรมการจัดหางาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการจัดการปัญหาแรงงานต่างด้าวและการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (กนร.) มีมติเห็นชอบให้ปรับเปลี่ยนขั้นตอนการออกใบอนุญาตทำงานของแรงงานต่างด้าวที่ยังไม่พิสูจน์สัญชาติ (ไม่มีพาสปอร์ต) หรือบัตรสีชมพู โดยจะให้แรงงานสามารถนำเอกสารยืนยันการเข้ารับการตรวจสุขภาพที่โรงพยาบาล มายื่นให้เจ้าหน้าที่เพื่อขอรับใบอนุญาตทำงานไปก่อน จากนั้นเมื่อเข้ารับการตรวจสุขภาพ และได้ผลการตรวจสุขภาพแล้ว ค่อยให้นำเอกสารการตรวจมายื่นต่อเจ้าหน้าที่ภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งจะทำให้การดำเนินการตรวจสอบมีความรวดเร็วยิ่งขึ้น แต่ถ้าภายหลังหากผลตรวจออกมาพบว่าผู้ใช้แรงงานเป็นโรคต้องห้าม ค่อยเพิกถอนการขออนุญาตต่อไป
ทั้งนี้ในการเปิดให้แรงงานต่างด้าว 3 สัญชาติ คือ เมียนมา ลาว และกัมพูชา ขึ้นทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-29 ก.ค. แต่ปรากฎว่าจนถึงวันที่ 9 มิ.ย. มีผู้มาขึ้นทะเบียน 494,030 คน แบ่งเป็นเมียนมา 277,262 คน ลาว 31,312 คน และกัมพูชา 185,456 คน
..