กรณี วัดพระธรรมกาย ขอเปลี่ยนตัวพนักงานสอบสวน พระธรรมชโยในคดี สหกรณ์ยูเนี่ยนคลองจั่น พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ กล่าวว่า ส่วนตัวมองว่าชุดพนักสอบสวนที่ทำงานขณะนี้ ทำงานดีอยู่แล้ว จึงเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องเปลี่ยน แต่ขณะนี้ยังไม่ได้รับเรื่องอย่างเป็นทางการ ดังนั้นจึงยังดำเนินการตามขั้นตอน ตามกฎหมาย ต่อไป ซึ่งขณะนี้ยังมีผู้ต้องหาอีก 3 คน 2หมาย ที่กำลังเร่งรัดดำเนินการอยู่ ทั้งนี้ ในที่ประชุม วันนี้ ไม่ได้มีการพูดถึง คดีของพระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย แต่อย่างใด
สำหรับในวันนี้ การประชุมคณะกรรมการคดีพิเศษ ครั้งที่ 1/2559 ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ถนนแจ้งวัฒนะ โดยมี นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธานการประชุม พร้อมด้วย พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม พ.ต.อ. ไพสิฐ และคณะกรรมการคดีพิเศษ โดยที่ประชุมวันนี้ จะมีการพิจารณาคดี จำนวน 50 คดี เพื่อรับเป็นคดีพิเศษ 3 คดี
ได้แก่ กรณีการบุกรุกป่าและที่ดินของรัฐ ด้วยเอกสาร สิทธิในที่ดินโดยมิชอบด้วยกฎหมายบริเวณเกาะนาคาน้อยจังหวัดภูเก็ต โดยคณะกรรมการเห็นว่า เรื่องนี้ส่งผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ รวมทั้ง เป็นเรื่องที่สังคมให้ความสนใจ จึงจำเป็นต้องใช้ความรู้เฉพาะด้านในการสืบสวนสอบสวน กรณีบริษัทเอกชน ดำเนินการสำรวจปิโตรเลียม โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายในจังหวัดเพชรบูรณ์ เมื่อปี 2553-2557 คณะกรรมการเห็นว่าเป็นเรื่องที่ซับซ้อนและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ จึงรับไว้เป็นคดีพิเศษ และ กรณีกล่าวหาว่ามีกลุ่มบุคคล มีพฤติการณ์หลอกลวงชาวมุสลิม ว่าสามารถประสานการเดินทาง ไปประกอบพิธีฮัจย์ ที่ประเทศซาอุดิอาระเบียโดยมิชอบด้วยกฎหมาย โดยมีการ จ่ายค่าใช้จ่ายประสานงานคนละ 15,000 บาท ทั้งนี้มีประชาชนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ หลงเชื่อ กว่า 500 ราย ซึ่งคณะกรรมการเห็นว่าเรื่องนี้เป็นภัยต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดีของประชาชน จึงรับไว้เป็นคดีพิเศษ
ในวันนี้ คณะกรรมการได้กำหนดรายละเอียดของลักษณะการกระทำความผิด ที่เป็นคดีพิเศษ ตามมาตรา 21 แห่งพระราชบัญญัติ การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 โดยกำหนดว่า คดีความผิด ตามประมวลกฎหมายที่ดิน กฎหมายป่าไม้ กฎหมายป่าสงวนแห่งชาติและกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ที่มีพฤติการณ์กระทำความผิดซับซ้อน ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจความมั่นคงของประเทศมีผู้ทรงอิทธิพลเข้ามาเกี่ยวข้อง คณะกรรมการสอบสวนคดีพิเศษ จะเป็นผู้ดำเนินการเอง โดยไม่ต้องขออนุมัติคณะกรรมการคดีพิเศษเป็นรายคดีอีก หลังจากนี้จะมีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเพื่อให้มีผลบังคับใช้ตามกฎหมายต่อไป