*นายกฯติงสื่อระวังเสนอความขัดแย้งกัมพูชาไทยกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว*

07 มิถุนายน 2559, 17:02น.


หลังการประชุมคณะรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการออกมาโพสต์ข้อความผ่านโลกโซเชี่ยว ยืนยันว่า โขน เป็นของกัมพูชา ว่า อย่าไปขยายความขัดแย้งอีก แต่สิ่งสำคัญที่ต้องเข้าใจว่าไทยไม่ได้ไปสมัครเป็นสมาชิกภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการสงวนรักษามรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของยูเนสโก แต่กัมพูชาได้เป็นสมาชิกแล้ว จึงสามารถเสนอโขนเป็นมรดกโลก ดังนั้น  เมื่อไทย สมัครเป็นสมาชิกแล้วก็สามารถไปจดทะเบียนได้ แต่เมื่อประเทศเขาจดทะเบียนเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ดังนั้นรัฐบาลไทยจึงต้องสมัครเป็นสมาชิกดังกล่าว ซึ่งการจดทะเบียนนั้นไม่ได้หมายความว่าเป็นของคนใดคนหนึ่ง และในอนาคตจะส่งผลไปสู่การจดลิขสิทธิ์สินค้าจีไอ เพราะสินค้าจีไอจะต้องมีที่มา รวมถึงกิจกรรมและการแสดงต่างๆที่เป็นของไทยก็จะต้องไปจดทะเบียนไว้ด้วย เนื่องจากเรามีความวิจิตรพิสดาร และการแต่งกายและบทร้องรำต่างๆที่มีความงดงาม ซึ่งไม่ใช่เอาไปเปรียบเทียบว่าใครเก่งกว่าใคร เพราะทุกอย่างเป็นของภูมิภาคนี้บนพื้นฐานเดียวกันคือ รามเกียรติ์ หรือ รามายณะ  ส่วนกระแสดังกล่าวจะกลายเป็นน้ำผึ้งหยดเดียวหรือไม่นั้น พลเอกประยุทธ์ กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับสื่อมวลชนที่เข้าไปขยายความว่าจะให้กลายเป็นน้ำผึ้งหยดใหญ่ขึ้นหรือไม่



สำหรับ ร่างแก้ไข พ.ร.บ.ปิโตรเลียม พ.ศ.2514  นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ครม.เพียงรับทราบข้อสังเกต และให้นำไปศึกษาทบทวนกันการบริหารจัดการทรัพยากรใหม่เพราะยังมีความคิดเห็นที่แตกต่างกัน โดยจะพิจารณา 3 รูปแบบ ได้แก่ .ระบบสัมปทานปิโตรเลียม ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต และ ระบบสัญญาจ้างสำรวจและผลิต ซึ่งกำลังพิจารณาอยู่ รวมถึงดูว่าประเทศไทยพร้อมหรือยัง โดยหลังจากนี้เมื่อรับหลักการแล้วจะส่งให้กฤษฎีกาแล้วจึงส่งไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณาต่อ ทั้งนี้เพิ่งวิตกกังวล กฎหมายต้องมีการปรับแก้ ซึ่งช่วง 7 ปีที่ผ่านมามีการแก้ไขกฎหมายไปแล้ว 120 ฉบับ ส่วนที่คสช.เข้ามา 2 ปีแก้ไปแล้ว 172 ฉบับ



ส่วนกรณีการค้าสัตว์ และทรมานสัตว์ป่า นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า รัฐบาลนี้จะต้องกำกัดบุคคลที่มีการกระทำดังกล่าวให้หมดไป โดยมีการเร่งพิจารณากฎหมายเกี่ยวกับการคุ้มครองสัตว์ เพราะมีสัตว์บางชนิดที่อยู่ในความคุ้มครองอนุสัญญาว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศซึ่งชนิดสัตว์ป่าและพืชป่าที่ใกล้สูญพันธุ์ ยังไม่ได้กำหนดอยู่ในความคุ้มครองในกฎหมายของไทย เพื่อให้มีมีมาตรการคุ้มครองอย่างทั่วถึง  ที่ผ่านมาไม่เคยมีการดำเนินการเรื่องนี้มาก่อน จึงขออย่านำไปขยายความเพราะจะทำให้ประเทศเสียความเชื่อมั่น



นายกรัฐมนตรี ยังกล่าวถึง การเข้าไปช่วยสร้างความปรองดองในเมียนมาว่า เป็นเรื่องที่เมียนมาขอมาจึงเข้าไปช่วย ให้การสนับสนุนเรื่องชนกลุ่มน้อย แต่ไม่สนับสนุนให้คนเหล่านี้มาเคลื่อนไหวในไทย  การเข้าไปเจรจาทำไม่ได้เพราะไม่ใช่เรื่องของประเทศไทย ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆแส่เข้าไป กิจการภายในของแต่ละประเทศต้องดำเนินการเอง ไม่ใช่เรื่องถึงติดนิสัยเอาคนนอกเข้ามาตรวจสอบ มาจัดระเบียบบ้านเรา ทุกประเทศมีกฎของตัวเอง หรือต้องการให้เข้ามาแก้ประชามติ ความขัดแย้ง การปรองดองในบ้านเรา ไม่อายบ้างหรือไง

ข่าวทั้งหมด

X