การจัดกิจกรรมวันที่สองของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ภายใต้โครงการ พลิกฟื้น คืนป่า ลดปัญหาภัยแล้ง เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวโรกาสมหามงคลเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ครบ 70 ปี และเพื่อสนองแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ที่จ.ฉะเชิงเทรา นางฤดีมาส ปางพุฒิพงศ์ หัวหน้ากองพัฒนาสังคม และสิ่งแวดล้อม กฟผ.ร่วมกับจิตอาสาร่วมกิจกรรม เรียนรู้การใช้ชีวิตแบบวิถีชุมชน ต.ท่าข้าม อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา โดยกลุ่มจิตอาสาได้แบ่งกลุ่มกันเรียนรู้ ร่วมกิจกรรมกับชาวบ้านในพื้นที่ เช่น การหุงข้าวด้วยฟืน การฝึกทำขนมจาก ขนมลอดช่อง ที่ขึ้นชื่อของชุมชน และวิธีการทำน้ำยาล้างจาน การจักสาน ซึ่งจิตอาสาจะได้สัมผัสด้วยตัวเองจากชาวบ้านในชุมชน หมู่ 7 โดยมีคุณสายรุ้ง เกิดแก้ว ผู้หญิงเก่งแห่งตำบลท่าข้าม สตรีดีเด่น สาขาสิ่งแวดล้อมปี2559 จากกฟผ. เป็นวิทยากรและแนะนำชุมชนในพื้นที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ด้วย
การเรียนรู้วิถีชุมชนในครั้งนี้ จิตอาสาจะแบ่งกลุ่มกันไปเรียนรู้ในแต่ละฐาน ตั้งแต่ขั้นตอนแรกการเตรียมนำวัตถุดิบมาผลิตเป็นอาหาร เช่นการทำน้ำพริกเผา การทำขนมจาก หรือการทำลอดช่อง เริ่มตั้งแต่การกวนแป้ง การกดแป้งกับแป้นพิมพ์ และการทำน้ำกะทิ หรือการขูดมะพร้าวเพื่อผสมแป้งในการทำขนมจาก ขั้นตอนการนำใบจากมาห่อ และการปิ้ง จิตอาสาจะได้ทดลองทำทุกขั้นตอน โดยมีชาวบ้านในชุมชนเป็นครูสอน หลังจากนั้นก็จะนำอาหารที่ทุกคนทำมาทานร่วมกัน เรียกว่า ได้ทำและลองรับประทานกันเอง เพื่อจะได้นำไปปรับรสชาติให้ถูกปากมากขึ้นตอนกลับไปลองทำเองที่บ้าน พร้อมทั้งได้เรียนรู้เคล็ดลับในการทำอาหารให้อร่อยอีกด้วย การจัดกิจกรรมครั้งนี้ สนุกสนานมาก เนื่องจาก ได้เรียนรู้การทำเองทุกขั้นตอน และการจัดกิจกรรมในการเดินทางครั้งนี้มีจิตอาสาที่เป็นทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ และมีมัคคุเทศก์ตัวน้อยในการคอยแนะนำให้ความรู้ด้วย ทั้งกลุ่มเยาวชนต้นกล้า และกลุ่มนักสืบสายน้ำ
ทั้งนี้ ชุมชนที่อยู่ใกล้กับโรงไฟฟ้าบางปะกง นอกจากจะมีส่วนช่วยดูแลสิ่งแวดล้อม และมีรายได้จากการนำผลิตผลที่ได้จากการปลูกป่าไปขายแล้ว ยังนำมาผลิตเป็นสินค้าชุมชน สำหรับนักท่องเที่ยวได้อุดหนุนกันด้วย หลังจากเรียนรู้วิถีชุมชนแล้ว จะเดินทางต่อไปที่ตลาดคลองสวน100 ปี ก่อนเดินทางกลับกลับกทม.
การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ สิ่งสำคัญคือการร่วมกันปลูกป่าชายเลน ที่เกาะนก ใกล้กับโรงไฟฟ้าบางปะกง ซึ่งเป็นเกาะที่ตั้งอยู่กลางปากแม่น้ำบางปะกงที่มีระบบนิเวศป่าชายเลนที่สำคัญและมีความอุดมสมบูรณ์มากแห่งหนึ่งของประเทศไทยในปัจจุบันรวมทั้งมีสัตว์น้ำหลากหลายชนิดด้วย นางฤดีมาส กล่าวว่า กฟผ. ได้เน้นการทำกิจกรรมเพื่อชุมชนเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อมมาตลอดระยะกว่า20 ปี จะเน้นเรื่องการปลูกป่า ในท้อง ในใจ และ ในป่า 3 สิ่งนี้ นับเป็นสิ่งสำคัญที่เน้นมาโดยตลอด การปลูกในท้อง คือ การทำความเข้าใจและการดูแลชุมชนที่อยู่ในพื้นที่ ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ทีดีขึ้น และเมื่อชุมชนมีชีวิตที่ดีแล้ว ก็จะมีส่วนร่วมและมีความรักในการดูแลป่า เรียกว่า การปลูกในใจ และถ้าขยายพื้นที่ได้เพิ่มมากขึ้นจำนวนป่าไม้ก็จะเพิ่มขึ้น
ระยะเวลากว่า 21 ปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537-2558 กฟผ.มีส่วนในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศไทยแล้วกว่า 80 ล้านต้น บนพื้นที่กว่า 4 แสนไร่ ในขอบข่ายทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ทั้งป่าบก ป่าชายเลน และพื้นที่ชุ่มน้ำ ตลอดทั้งพื้นที่เพื่อเพิ่มอาหารตามธรรมชาติให้กับสัตว์ป่า ยังผลให้เกิดต้นทุนความชุ่มชื้นแก่พื้นที่และอาหารสัตว์ป่าตลอดถึงช่วยลดภาวะโลกร้อนจากการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ได้กว่า 80 ล้านตัน รวมทั้งสร้างการรับรู้ รณรงค์ สร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู การปลูกป่าให้ประชาชนและเยาวชน ได้มองเห็นคุณค่าของทรัพยากรธรรมชาติต่อไป