การทำกิจกรรมเพื่อสังคมที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง เช้าวันนี้ (4 มิย.) กฟผ. จับมือกับสื่อมวลชน รายการช่วยคิดช่วยทำ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 และ สถานีวิทยุ จส.100 นำจิตอาสาร่วมกิจกรรมปลูกป่าชายเลนบริเวณรอบโรงไฟฟ้าบางปะกง จังหวัดฉะเชิงเทรา ระหว่างวันที่ 4-5 มิ.ย. ภายใต้โครงการ พลิกฟื้น คืนป่า ลดปัญหาภัยแล้ง เพื่อเฉลิมพระเกียรติเนื่องในวโรกาสมหามงคลเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ ครบ 70 ปี และเพื่อสนองแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ โดยมีนายธาตรี ริ้วเจริญ ผู้ช่วยผู้ว่าการกฟผ. นายศานิต นิยมาคม ผู้อำนวยการฝ่ายกิจการสังคม และนางฤดีมาส ปางพุฒิพงศ์ หัวหน้ากองพัฒนาสังคม และสิ่งแวดล้อม ร่วมพิธีเปิดงาน
การจัดกิจกรรมครั้งนี้ นายกรศิษฏ์ ภัคโชตานนท์ รองผู้ว่าการผลิตไฟฟ้า การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า เป็นการช่วยกันร่วมฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าชายเลนเพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยและแหล่งอนุบาลของสัตว์น้ำวัยอ่อน ให้มีที่อยู่และขยายพันธุ์สัตว์น้ำบริเวณป่าชายเลน โดยเฉพาะบริเวณปากแม่น้ำบางปะกงที่เป็นแหล่งอาหารสำคัญของโลมาอิรวดี ที่ใช้เป็นดัชนีชี้วัดที่สำคัญในความสมบูรณ์ของป่าชายเลนให้ได้มีความอุดมสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ซึ่งป่าชายเลนยังทำหน้าที่เสมือนเขื่อนป้องกันคลื่นลมจากทะเล ช่วยป้องกันความรุนแรงของพายุ และทำหน้าที่ดักกรองสารปฏิกูลสารมลพิษและโลหะไม่ให้ลงสู่ทะเลอีกด้วย
ส่วนการเยี่ยมชมแหล่งเรียนรู้ภายในโรงไฟฟ้าบางปะกง ได้นำกลุ่มเยาวชนต้นกล้า และกลุ่มนักสืบสายน้ำ มาทำหน้าที่เป็นมัคคุเทศก์น้อยพาชมการดำเนินโครงการเลี้ยงปลาในระบบน้ำทิ้ง สวนเกษตรสาธิต สวนพฤกษศาสตร์ อุทยานพลังงาน โรงจักรผลิตไฟฟ้า ภายในพื้นที่ของโรงไฟฟ้าบางปะกงที่ได้มีการดำเนินการภายใต้การมีส่วนร่วมของชุมชนในการรักษาสิ่งแวดล้อม ทั้งในพื้นที่ภายในโรงไฟฟ้า และชุมชนโดยรอบโรงไฟฟ้า
การร่วมกิจกรรมครั้งนี้ คณะจิตอาสาได้ล่องเรือชมเกาะนก ซึ่งเป็นเกาะที่ตั้งอยู่กลางปากแม่น้ำบางปะกงที่มีระบบนิเวศป่าชายเลนที่สำคัญและมีความอุดมสมบูรณ์มากแห่งหนึ่งของประเทศไทยในปัจจุบัน มีพื้นที่ของเกาะ 125 ไร่ ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยพันธุ์ไม้ป่าชายเลน และสัตว์น้ำหลากหลายชนิด รวมทั้งเป็นแหล่งที่นกน้ำนานาชนิดอาศัยอยู่หลากหลายกว่า 50 สายพันธุ์ รวมถึงค้างคาวแม่ไก่ ที่ได้หวนกลับคืนมาอาศัยอยู่ในป่าชายเลนแห่งนี้อีกครั้ง จึงนับเป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ธรรมชาติกลางแจ้งเกี่ยวกับระบบนิเวศป่าชายเลน แหล่งท่องเที่ยวศึกษาธรรมชาติที่สวยงาม
นอกจากนี้ ยังได้ร่วมกันปลูกป่าชายเลนเพื่อสร้างจิตสำนึกและเติมเต็มความสมบูรณ์ยิ่งขึ้นของป่าชายเลน โดยร่วมกับผู้บริหาร เจ้าหน้าที่ กฟผ. ศิลปินดารา เช่น คุณมนัสวิน นันทเสน (ติ๊ก ชีโร่), คุณพศิน เรืองวุฒิ (เอ), คุณกัญญ์ชัญญ์ เธียรวิชญ์ (เจเน็ต เขียว), คุณศิริบูรณ์ ณัฐพันธ์ (หญิง) และเยาวชน/ชาวบ้านในชุมชน
โรงไฟฟ้าบางปะกง ตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำบางปะกง มีกำลังการผลิตมากที่สุดในประเทศถึง 2,490 เมกะวัตต์ มีพื้นที่ติดกับกรุงเทพมหานคร และภาคตะวันออก ซึ่งเป็นแหล่งที่ใช้พลังงานไฟฟ้าเป็นจำนวนมากที่สุดของประเทศ กฟผ. ตระหนักเรื่องการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จึงได้ดำเนินการทำโครงการต่างๆ เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่องตลอดมา ซี่งนอกจากการปลูกป่าในบริเวณปากแม่น้ำบางปะกงแล้ว ก็ยังมีการดำเนินงานในโครงการสีเขียว โดยใช้สาร EM ซึ่งมีคุณสมบัติที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มาดำเนินการในพื้นที่โดยรอบของโรงไฟฟ้าบางปะกงเป็นแห่งแรก และประสบความสำเร็จ ยังมาซึ่งการขยายผลไปสู่โรงไฟฟ้าอื่นๆ ของ กฟผ. ทั่วประเทศในปัจจุบันด้วย
ระยะเวลากว่า 21 ปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2537-2558 กฟผ. ได้มีส่วนในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศไทยแล้วกว่า 80 ล้านต้น บนพื้นที่กว่า 4 แสนไร่ ในขอบข่ายทุกภูมิภาคทั่วประเทศ ทั้งป่าบก ป่าชายเลน และพื้นที่ชุ่มน้ำ ตลอดทั้งพื้นที่เพื่อเพิ่มอาหารตามธรรมชาติให้กับสัตว์ป่า ยังผลให้เกิดต้นทุนความชุ่มชื้นแก่พื้นที่และอาหารสัตว์ป่าตลอดถึงช่วยลดภาวะโลกร้อนจากการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ได้กว่า 80 ล้านตัน
สำหรับในปี 2559 กฟผ. เดินหน้าในโครงการฯ เพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้กับประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยร่วมกับสื่อมวลชนพันธมิตรแขนงต่างๆ ตลอดถึงประชาชนในชุมชน และผู้มีจิตอาสาทั้งต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ ร่วมกันทำกิจกรรมในโครงการปลูกป่า กฟผ. 2559 จำนวน 5 เส้นทางขึ้น โดยเน้นที่ป่าชายเลน ป่าต้นน้ำ และป่าชุมชน ในพื้นที่รอบเขื่อน และโรงไฟฟ้าของ กฟผ. ได้แก่ โรงไฟฟ้าบางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา, เขื่อนภูมิพล จ.ตาก ,เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น, กฟผ.แม่เมาะ จ.ลำปาง และเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ ทั้งนี้เพื่อร่วมเป็นกำลังใจให้กับชุมชนที่ดูแลรักษาป่า ซึ่งถือว่าเป็นผู้เสียสละดูแลทรัพยากรของชาติ รวมทั้งสร้างการรับรู้ รณรงค์ สร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู การปลูกป่าให้ประชาชนและเยาวชน ได้มองเห็นคุณค่า ของทรัพยากรธรรมชาติ หากผู้สนใจติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ทาง www.egat-reforest.com