ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไปหรืออัตราเงินเฟ้อเดือนพฤษภาคม 2559 นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อเท่ากับ 107.02 ขยายตัวร้อยละ 0.46 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเป็นขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 และกลับมาเป็นบวกสูงสุดในรอบ 17 เดือน นับจากเดือนธันวาคม 2557 จากการปรับขึ้นของราคาเนื้อสัตว์ ผักสด และผลไม้ที่ยังได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง ผักและผลไม้เพิ่มขึ้นร้อยละ 15.71 ไข่และผลิตภัณฑ์นมเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.20 และเนื้อสัตว์เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.37 รวมทั้งหมวดยาสูบและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ราคาปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.15 แต่ระยะ 5เดือนแรกปีนี้อัตราเงินเฟ้อยังคงติดลบร้อยละ 0.20 อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจราคาสินค้าและบริการทั่วประเทศ 450 รายการ พบว่าสินค้าปรับตัวสูงขึ้นถึง 193 รายการ เช่น เนื้อหมู ไข่ไก่ และนมสด เป็นต้น ส่วนราคาสินค้าที่ยังทรงตัว 187 รายการ และลดลง 70 รายการ
ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อปี 2559 ว่าจะขยายตัวเป็นบวกในกรอบร้อยละ 0-1 ตามเดิม แม้สภาพอากาศเริ่มมีปริมาณฝนเพิ่มขึ้น ทำให้ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวลดลงและมีผลให้อัตราเงินเฟ้ออ่อนตัวลง แต่คาดว่าสินค้าในหมวดวัสดุก่อสร้างจะเป็นตัวดึงอัตราเงินเฟ้อในช่วงครึ่งปีหลังตามโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล รวมทั้งมาตรการสนับสนุนกำลังซื้อของภาคครัวเรือนจะมีผลดีต่อเศรษฐกิจ คาดว่าไตรมาส 3 อัตราเงินเฟ้อจะขยายตัวร้อยละ 1 ประกอบกับสมมติฐานที่ตั้งไว้ทั้งราคาน้ำมันดิบดูไบ จะอยู่ในกรอบ 30-40 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล และอัตราแลกเปลี่ยนระหว่าง 36-38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ยังคงอยู่ในระดับใกล้เคียงกับที่คาดการณ์