*ผู้ตรวจการแผ่นดิน ส่งศาลรธน.วินิจฉัยพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติมาตรา61วรรค2 *

01 มิถุนายน 2559, 13:58น.


หลังจากที่ผู้ตรวจการแผ่นดิน ประชุมพิจารณาคำร้องของนายจอน อึ๊งภากรณ์ ผู้อำนวยการโครงการอินเตอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน ที่ขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 61 วรรค 2 ,3 และ 4 ขัดรัฐธรรมนูญ 2557 (ฉบับชั่วคราว) หรือไม่ นายรักษเกชา แฉ่ฉาย เลขาธิการสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เปิดเผยว่า ที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ว่า มาตรา 61 วรรค2 พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ 2559 มีปัญหาความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ โดยจะเสนอเรื่องพร้อมความเห็นไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยภายในสัปดาห์นี้ ในความเห็นของผู้ตรวจการแผ่นดิน มองว่ามาตรา 61 วรรค2 ที่บัญญัติว่า ผู้ใดดำเนินการเผยแพร่ข้อความ ภาพ เสียง ในสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุโทรทัศน์ สื่ออิเล็คทรอนิกส์ หรือในช่องทางอื่นใดที่ผิดไปจากข้อเท็จจริง หรือมีลักษณะ รุนแรง ก้าวร้าว หยาบคาย ปลุกระดม หรือข่มขู่ โดยมุ่งหวังเพื่อให้ผู้มีสิทธิออกเสียงไม่ไปใช้สิทธิออกเสียง หรือออกเสียงอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือไม่ออกเสียงให้ถือว่าผู้นั้น กระทำการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย แม้จะมีพจนานุกรม ระบุความหมายของคำว่า ก้าวร้าว รุนแรง หยาบคาย แต่ในทางปฏิบัติก็มีความไม่ชัดเจน คลุมเครือ ประชาชนอาจจะสับสน ไม่กล้าแสดงความคิดเห็น ขัดต่อเจตนารมณ์ของการออกเสียงประชามติ และ อาจจมีการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ตีความหมายของถ้อยคำดังกล่าว จนอาจนำไปสู่การดำเนินการกับประชาชน  และที่สุดการออกเสียงประชามติครั้งนี้อาจจะเกิดความวุ่นวายมากกว่าความสงบเรียบร้อยยืนยันว่า การวินิจฉัยครั้งนี้ของผู้ตรวจได้มีการรวบรวมข้อมูล ข้อกฎหมายต่าง รวมถึงขั้นตอนในการพิจารณาออกกฎหมายแล้วอย่างครบถ้วน



ด้านนายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง(กกต.) กล่าวว่า ขึ้นอยู่กับว่าศาลจะรับคำร้องของผู้ตรวจการแผ่นดินไว้พิจารณาหรือไม่ และศาลจะพิจารณาว่ามาตรา 61 วรรค 2ของ พ.ร.บ.ประชามติจะขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ซึ่งจากนี้ต้องใช้เวลา อย่างไรก็ตามการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความนั้นถือเป็นสิ่งที่ดี เพราะจะทำให้บทบัญญัติของกฎหมายมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น อีกทั้ง พ.ร.บ.ประชามติ ยังมีผลบังคับใช้ ซึ่งประธาน กกต.ในฐานะผู้รักษาการกฎหมายดังกล่าว ก็ต้องยึดถือตามกฎหมายต่อไป จนกว่าศาลจะมีคำวินิจฉัย



CR:สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน 

ข่าวทั้งหมด

X