ระบบคัดเลือกเข้าสถาบันอุดมศึกษากับการพัฒนาคุณภาพการศึกษาไทย ที่ยังพบช่องว่างอยู่นั้น ผศ.ดร. พงษ์อินทร์ รักอริยะธรรม อธิการบดีมหาวิทยาลัยเนชั่น กล่าวในสภาการศึกษาเสวนา (OEC Forum) ครั้งที่ 7 ว่า ระบบการคัดเลือกเข้าสถาบันอุดมศึกษาในปัจจุบันมีความหลากหลายเป็นอย่างมาก มีทั้ง O-Net, GAT/PAT โค้วต้า รับตรง เพื่อเพิ่มโอกาสให้กับนักเรียนต่างพื้นที่ ต่างการเข้าถึงโอกาสทางการศึกษา แต่ปัญหาที่พบส่วนใหญ่ คือ เด็กที่เก่ง จะสอบทิ้งไว้หลาย ๆ ที่เพื่อเป็นทางเลือกของตัวเอง แต่กลับกลายเป็นการปิดโอกาสทางการศึกษาของคนอื่น ๆ ขณะที่ปัญหาด้านการศึกษาที่พบจากข่าวตลอดทุกปีที่มีช่วงสอบเเข่งขันเข้าอุดมศึกษา คือ เด็กส่วนใหญ่มีคะแนนการสอบกลางน้อยมาก ข้อสอบ Onet GAT/PAT ที่จะเน้นการคิด วิเคราะห์ แยกแยะ ที่สะท้อนให้เห็นว่าจะต้องมีการพิจารณาขอบเขตเนื้อหาให้สอดคล้องกับวิชาที่เรียนในโรงเรียน ซึ่งทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องสร้างกลไกการพัฒนาที่ชัดเจน ทันต่อยุคสมัย เพื่อไม่ให้เกิดปัญหานักเรียนวิ่งรอกสอบหลายที่ สิ้นเปลืองค่าใช้จ่าย และต้องไปเรียนกวดวิชา

ผศ.ดร. พงษ์อินทร์ ระบุถึงการเด็กเข้าเรียนกวดวิชาเพิ่มมากขึ้น ว่า ไม่ใช่เพราะโรงเรียนไม่ได้มาตรฐานอย่างเดียว แต่เพราะในปัจจุบันสถาบันอุดมศึกษา มีคุณภาพแตกต่างกัน ความต้องการเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยชื่อดังมีมากขึ้น โรงเรียนที่สอนในระดับมัธยมศึกษา ก็มีคุณภาพไม่เท่ากัน จึงเกิดการแข่งขันกันสูงมาก โดยปัจจุบัน พบว่าประเทศญี่ปุ่น ที่โรงเรียนและมหาวิทยาลัย มีคุณภาพการศึกษาสูง แต่ก็ยังมีการกวดวิชาเป็นจำนวนมาก เพราะมีการแข่งขันภายในประเทศที่สูง ต่างจากประเทศอเมริกา ที่ไม่มีการกวดวิชา
ทั้งนี้ ปัจจัยสำคัญที่หน่วยงานส่งเสริมด้านการศึกษา จะต้องเร่งแก้ไขปัญหา คือ เด็กด้อยโอกาส ที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกล จะทำอย่างไรให้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษาอย่างเท่าเทียมกัน
ด้านรศ.นพ. สรนิต ศิลธรรม รองเลขาธิการคณะกรรมการการอุดมศึกษา เปิดเผยว่า ในการสอบคัดเลือกเข้าเรียนในสถาบันอุดมศึกษาของต่างประเทศ จะใช้คะแนนทักษะการคิดวิเคราะหเพียงอย่างเดียว (SAT) ใช้คะแนนสอบที่ดีที่สุด มีการส่งจดหมายไปสมัครเรียน สอบครั้งเดียวแบบ Entrance มีการเลือก 4-6 อันดับ นอกจากนี้ยังมีการสอบวิชาการอย่างเข้มข้น จึงทำให้เสียค่าใช้จ่ายน้อยกว่าประเทศไทย ซึ่งปัญหาที่พบในปัจจุบันนี้ พ่อ แม่ ผู้ปกครองของเด็ก จะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการกวดวิชา และการสอบเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยมาก จึงต้องมีการรณรงค์ให้เด็กหาเป้าหมาย แนวทางของตัวเองให้พบ ก่อนจะเข้าสอบ เพื่อป้องกันการสอบหลาย ๆ ที่ และประหยัดค่าใช้จ่าย ส่วนตัวมองว่าหากเด็กมีความตั้งใจเรียนในโรงเรียนจริง ๆ มีเป้าหมายของตัวเอง และมีการทบทวนบทเรียนตลอดเวลา การกวดวิชาอาจจะไม่จำเป็นสำหรับการเข้าสถาบันอุดมศึกษา

ทั้งนี้ สถาบันอุดมศึกษา มีความจำเป็นต้องคัดเลือกเด็กที่มีความสามารถ ความถนัดให้มีความเหมาะสม สอดคล้องกับวิชาที่เรียน หากรับมาโดยที่ไม่มีความสามารถไม่มีความรู้ทางวิชาการเลย แล้วคิดว่าจะนำเด็กมาสอนในสถาบันอุดมศึกษา จะลำบาก ดังนั้น จึงต้องมีการสอบคัดเลือกผู้ที่เหมาะสม สำหรับการเปิดโอกาสให้เด็กเข้าศึกษาในสถาบันที่มีชื่อเสียง ก็จะมีการใช้โค้วต้าความสามารถด้านกีฬา ดนตรี และอื่นๆ
...
ผสข.สมจิตร์ พูลสุข