*เลขาป.ป.ส.หารือผู้ว่าฯตรังแก้ปัญหายาเสพติดโดยใช้แผนประชารัฐร่วมใจ*

28 พฤษภาคม 2559, 18:38น.


การแก้ปัญหายาเสพติดในชุมชน ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของปัญหาอาชญากรรมในพื้นที่ นายณรงค์ รัตนานุกูล เลขาธิการ คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด หรือ ป.ป.ส. พูดคุยกับนายเดชรัฐ สิมศิริ ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง จากกรณีเด็กหญิงวัย 8 ขวบ ที่ถูกล่อลวงให้ดื่มน้ำอัดลมผสมยาบ้าและถูกข่มขืนจนเสียชีวิต เหตุเกิดที่ ม.4 ต.หนองตรุด อ.เมือง จ.ตรัง เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2559 พร้อมสั่งการให้ผู้ที่เกี่ยวข้องวางมาตรการและกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยนำกลไก "ประชารัฐ" ตามนโยบายแผนประชารัฐร่วมใจ สร้างหมู่บ้านชุมชนมั่นคง ปลอดภัยยาเสพติด ของพลเอก ไพบูลย์ คุ้มฉายา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มาใช้เป็นกลไกหลักในการแก้ไขปัญหาในระดับพื้นที่ และกำหนดให้ บ้านนา ม.4 ต.หนองตรุด อ.เมือง จ.ตรัง เป็นเป้าหมายสำคัญแห่งหนึ่งตามแผนประชารัฐร่วมใจ สร้างหมู่บ้านชุมชนมั่นคง ปลอดภัยยาเสพติด ทั่วประเทศ พร้อมทั้งเตรียมแนวทางปฏิบัติการตามแผนประชารัฐฯ เพื่อปฏิบัติการในหมู่บ้านดังกล่าวอีกด้วย โดยมีนางนฤมล ช่วงรังษี รองเลขาธิการ ป.ป.ส. นายสุรพล ภัทรปกรณ์ ผอ.ปปส.ภ.9 นางจีระพรรณ กาญจนประดิษฐ์ เลขานุการกรม และเจ้าหน้าที่ ปปส.ภ.9 เข้าร่วมหารือ ณ สำนักสงฆ์หว้าทอง อ.กันตัง จ.ตรัง





จากนั้น นายณรงค์ ได้ลงพื้นที่เพื่อตรวจสอบ และเยี่ยมเยียนประชาชนในพื้นที่ บ้านนา ม.4 ต.หนองตรุด อ.เมือง จ.ตรัง และหารือร่วมกับประชาชนในพื้นที่ถึงสถานการณ์ปัญหายาเสพติด ผลความคืบหน้าและแนวทางการแก้ไขปัญหายาเสพติดในพื้นที่ตามแผนประชารัฐฯ ร่วมกับนายพิศาล เต็งเฉี้ยง กำนันตำบลหนองตรุด นายมานะ เทือกสุบรรณ ป้องกันจังหวัดตรัง นายเอกวิศิษฐ์ เพ็งตา ปลัดอำเภอเมืองตรัง ประชาชนในพื้นที่



จากการลงพื้นที่หารือในวันนี้ นายณรงค์ ได้สั่งการให้ สำนักงาน ปปส. ภาค 9 กำหนดให้หมู่บ้านบ้านนา ม.4 ต.หนองตรุด อ.เมือง จ.ตรัง เป็น 1 ในหมู่บ้าน/ชุมชนจำนวน 5,647 แห่งทั่วประเทศ (เป้าหมายเดิม 5,646 แห่ง) ที่ต้องดำเนินการตามแผนประชารัฐร่วมใจฯ อย่างเร่งด่วนภายในเดือนกันยายน 2559 จากเป้าหมายการดำเนินการตามแผนประชารัฐร่วมใจฯ ให้ได้ 81,905 แห่ง ภายในปี 2560 โดยให้สำนักงาน ปปส.ภาค 9 ลงพื้นที่ดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องค้นหาผู้เสพ-ผู้ติดยาเสพติดอย่างเร่งด่วนและดำเนินการตามขั้นตอน 9 ขั้นตอน ด้วยการนำเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการสืบสภาพชุมชนในทันที แล้วจึงดำเนินการในขั้นตอนต่อไปด้วยการพบปะแกนนำ/ผู้นำธรรมชาติ การประกาศวาระหมู่บ้าน/ชุมชน การรณรงค์ประชาสัมพันธ์ การคัดแยกผู้มีพฤติกรรมเกี่ยวข้องกับยาเสพติด การดำเนินแนวทางการป้องกันยาเสพติด การรับรองครัวเรือน การใช้มาตรการทางสังคม และสุดท้ายคือการรักษาสถานะชุมชนเข้มแข็ง ทั้งนี้เพื่อให้การแก้ไขปัญหายาเสพติดมีความเหมาะสมกับพื้นที่



CR:ฝ่ายประชาสัมพันธ์ป.ป.ส.

ข่าวทั้งหมด

X