การลงพื้นที่ศึกษา วิเคราะห์ความเหมาะสม และผลกระทบ อ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จังหวัดจันทบุรี นายสมเกียรติ ประจำวงษ์ รองอธิบดีกรมชลประทาน พร้อมด้วยคณะลงพื้นที่ศึกษาความเหมาะสมในการสร้างอ่างเก็บน้ำและพูดคุยกับประชาชนที่อยู่ในพื้นที่โครงการ ซึ่งโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนดตั้งอยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำคลองวังโตนด การศึกษา จะครอบคลุมพื้นที่ 1,652 ตารางกิโลเมตร ในเขตอำเภอแก่งหางแมว อำเภอท่าใหม่ และบางส่วนของอำเภอเขาคิชฌกูฏและอำเภอนายายอามจังหวัดจันทบุรี และตัวเขื่อนเป็นเขื่อนดิน จะตั้งอยู่บริเวณบ้านโป่งเกตุ หมู่ที่ 1 ตำบลขุนซ่อง อำเภอแก่งหางแมว โดยมีพื้นที่รับน้ำฝน 255 ตารางกิโลเมตรและมีปริมาณน้ำท่าไหลลงอ่างเก็บน้ำในเกณฑ์เฉลี่ย 120 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี อ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จะสามารถกักเก็บน้ำได้สูงสุดถึง 99 ล้านลูกบาศก์เมตรและส่งน้ำให้พื้นที่ชลประทานได้ 880,000 ไร่ ขณะนี้ โครงการสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด อยู่ระหว่างการศึกษาวิเคราะห์ความเหมาะสม ทั้งในด้าน วิศวกรรม ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และการมีส่วนร่วมรับฟังความคิดเห็นของประชาชน
ด้านนายศักดิ์อรุณ ขันติ ผู้ใหญ่บ้านโป่งเกตุ หมู่ 1 ตำบลขุนซ่อง อำเภอแก่งหางแมว ซึ่งเป็นพื้นที่ที่จะนำไปใช้ในการสร้างอ่างเก็บน้ำ เปิดเผยว่า ในพื้นที่หมู่ 1 ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตป่าสงวน จึงไม่มีเอกสารสิทธ์ โดยในหมู่ 1 มีประชากรประมาณ 200 กว่าครัวเรือน ครอบคลุมพื้นที่ 3,000 ไร่ ซึ่งคนในหมู่บ้านส่วนใหญ่มาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือตั้งแต่ปี 2528 และบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างทั่วไปเป็นช่างก่อสร้าง และเป็นลูกจ้างทางการทำการเกษตร เช่นกรีดยาง ซึ่งชาวบ้านในพื้นที่ก็รับทราบถึงการที่จะดำเนินโครงการสร้างอ่างเก็บน้ำดี เนื่องจาก เจ้าหน้าที่มีการเข้ามาพูดคุยและสำรวจพื้นที่หลายครั้งแล้ว และเข้าใจหากจะต้องย้ายออกจากพื้นที่ เบื้องต้น ได้พูดคุยหากจะดำเนินการก่อสร้างอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด ก็ขอให้รัฐบาลจัดสรรพื้นที่อยู่อาศัยทำกินให้ใหม่คนละ 11 ไร่ ในพื้นที่บริเวณใกล้เคียงพื้นที่เดิม เบื้องต้น ชาวบ้านก็ต้องการที่จะย้ายไปบริเวณหมู่ 18 ซึ่งห่างจากพื้นที่เดิมประมาณ 7 กิโลเมตร
ผู้สื่อข่าว:ปิยะธิดา เพชรดี