*กรมชลฯ เน้นบริหารจัดการน้ำ4ด้านวางยุทธศาสตร์สอดคล้องแผนแม่บท*

25 พฤษภาคม 2559, 13:01น.


การประชุมเชิงปฏิบัติการส่วนภูมิภาคของกรมชลประทาน เป็นการประชุมครั้งที่ 4 ของกลุ่มภาคกลาง ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์กรมชลประทาน พ.ศ.2560-2564 ที่จ.นครนายก เป็นการประชุมแบ่งกลุ่ม มีการหารือถึงการบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนในประเทศ นายสุชาติ หาญชนะชัยกูล ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมชลประทาน ด้านบำรุงรักษา กรมชลประทาน กล่าวว่า การประชุมในวันนี้จะเน้นเรื่องการจัดทำยุทธศาสตร์ของกรมชลประทาน โดยภาพรวมของการบริหารจัดการน้ำในภาคกลาง ที่กรมอุตุนิยมวิทยาได้ออกประกาศว่า ตั้งแต่วันที่ 18 พ.ค. ประเทศไทยได้เข้าสู่ฤดูฝนอย่างเป็นทางการ โดยคาดการณ์ว่าปริมาณน้ำฝนในปีนี้จะมีมากกว่าค่าของเกณฑ์เฉลี่ย ซึ่งถือเป็นข่าวดี





 ส่วนการบริหารจัดการน้ำในภาคกลางในครึ่งปีหลัง กรมชลประทานได้เน้นการจัดการ 4 ด้าน คือ น้ำที่ใช้ในการอุปโภค-บริโภค ที่ยืนยันว่ามีเพียงพอต่อความต้องการอย่างแน่นอน ,การเพาะปลูกของประชาชนในพื้นที่ จะเน้นการปลูกพืชที่ใช้น้ำฝนเป็นหลัก , เร่งส่งน้ำเสริมพื้นที่เพาะปลูกที่ขาดแคลนน้ำ และ การเก็บกักน้ำเพื่อทำเป็นน้ำต้นทุน ด้านการแก้ปัญหาภัยแล้ง จะเน้นให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการรณรงค์ร่วมกับเจ้าหน้าที่ของหน่วยงานภาครัฐ เนื่องจากกำลังเจ้าหน้าที่มีจำกัด ให้สอดคล้องกับนโยบายของ พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่กำหนดพื้นที่และแผนที่ทางการเกษตรให้กับประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ รวมถึงเป็นการเรียนรู้เข้าใจร่วมกัน เพื่อเกิดการใช้น้ำที่ประหยัดที่สุด



ทั้งนี้ กรมชลประทานได้ประเมินสถานการณ์น้ำในช่วงที่เหลือว่า น้ำต้นทุนที่มีอยู่นั้น มีปริมาณจำกัดโดยต้องอาศัยน้ำฝนให้มากที่สุด และขอให้เกษตรกร ศึกษาข้อมูล และติดตามข่าวสารเกี่ยวกับการเพาะปลูกพืชชนิดต่างๆอย่างใกล้ชิด โดยในอนาคต กรมชลประทานมีแผนจัดทำพื้นที่ชลประทาน จำนวน10ปี ในการเพิ่มพื้นที่ชลประทานประมาณ 8.7 ล้านไร่



ด้านการประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนช่วยกันประหยัดน้ำ ผู้ทรงคุณวุฒิด้านวิศวกรรมชลประทาน ด้านบำรุงรักษา กรมชลประทาน กล่าวว่า เป็นอีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญ ที่ได้ทำอย่างต่อเนื่อง ทั้งการลงพื้นที่เข้าไปพบปะพูดคุยทำความเข้าใจ จัดตั้งกลุ่มเข้มแข็ง ทบทวนแผนและปัญหาทั้งเก่าและใหม่เพื่อนำมาปรับปรุงเพิ่มเติมต่อไป อย่างไรก็ตาม กรมชลประทานได้กำหนดยุทธศาสตร์ การบริหารจัดการน้ำในอนาคตให้สอดคล้องกับแผนแม่บทของชาติ ฉบับที่ 12 ซึ่งจะนำไปสู่โร้ดแมพที่สมบูรณ์ ครบถ้วน ชัดเจน และเติบโตอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม จากเจ้าหน้าที่ที่มีประสบการณ์ด้านน้ำโดยตรง



ผู้สื่อข่าว:พนิตา สืบสมุทร 

ข่าวทั้งหมด

X